เด็กสมาธิสั้น คืออะไร?

อาการสมาธิสั้น โดย ดร.ฮาลโลเวล 


  ADHD คืออะไร? 

ADHD มาจาก Attention Deficit Hyperactivity Disorder หรือแค่ ADD ซึ่งมาจาก Attention Deficit Disorder เป็นศัพท์ทางการแพทย์ซึ่งไม่น่ากลัวอะไร เพราะถ้าคุณจัดการมันได้ดี ADHD หรือ ADD หรืออาการสมาธิสั้น จะเป็นเหมือนเพื่อนคุณและคุณสมบัติที่น่าสนใจของคุณ

ADD หรือ ADHD หรือบางครั้งใช้ AD/HD ไม่ว่าชื่อไหนก็แล้วแต่ เป็นอาการที่พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในเรื่องการขาดสมาธิ, ความหุนหันพลันแล่น, และความกระสับกระส่ายหรืออยู่นิ่งไม่ได้ สำหรับผมไม่ควรใช้คำว่า ADHD เพราะผมคิดว่าภาวะแบบนี้ไม่ใช่ความพิการ หรือ การขาดความตั้งใจ ผมมองสมาธิสั้นว่าเป็นลักษณะนิสัยเฉพาะอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความผิดปกติ หากมีการจัดการที่ดี จะสามารถกลายเป็นคุณสมบัติเด่นของคนๆ หนึ่งได้ ผมก็เป็นสมาธิสั้นและเขียนหนังสือกับ Catherine Corman เกี่ยวกับคนที่ประสบความสำเร็จมากมายที่เป็นคนสมาธิสั้นเหมือนกัน ทำให้ผมรู้ดีว่ากำลังพูดถึงอะไร

สำหรับผมชอบที่จะอธิบายว่า สมาธิสั้น คือการมีสมองเหมือนรถแข่งแต่มีเบรกแบบที่ใช้กับจักรยาน (having ADD is like having a powerful race car for a brain, but with bicycle brakes) การพยายามจัดการกับอาการเหล่านี้คือการทำให้เบรกของคุณใช้งานได้ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น แล้วคุณก็จะชนะทุกสนามแข่งในชีวิตคุณ

การทำงานของผมในฐานะนักจิตวิทยาคนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือคนสมาธิสั้น ผมไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นหมอกำลังช่วยคนที่ผิดปกติ แต่เป็นหมอที่ช่วยคนทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเด็ก ที่มีอาการนี้เหมือนผม ให้สามารถค้นหา พัฒนา และสร้างสรรค์ พรสวรรค์ที่เค้ามีอยู่ นั่นทำให้ผมรักงานที่ผมทำ

ความแตกต่างของ ADD และ ADHD คืออะไร 

คำตอบนี้ง่ายๆ ADHD จะพบอาการกระสับกระส่ายทางร่างกายมากเกินไป หรือ อาการอยู่ไม่ค่อยนิ่ง นั่นเป็นส่วนที่อธิบายตัว H แต่สำหรับ ADD อาการอยู่ไม่นิ่งจะหายไป (ในบางตำราก็จัดว่าเป็นประเภทย่อยของ ADHD คือ inattentive subtype) เราจะพบว่าคนที่เป็น ADD จะดูสงบ นิ่งๆ ใจเย็น ไม่ดูวุ่นวายเหมือนคนที่มีอาการแบบ ADHD อาการแบบนี้มักพบในเด็กผู้หญิงและผู้หญิงมากกว่า หรืออาจพบในเด็กผู้ชายหรือผู้ชายที่โตแล้วด้วย และเรามักจะไม่ค่อยรู้ว่าคนๆ นี้ก็เป็นคนสมาธิสั้นได้เหมือนกัน เพราะไม่เห็นอาการหลุกหลิกอยู่ไม่นิ่ง ทำให้คนมองเด็กหรือผู้ใหญ่เหล่านี้ว่าอาจเป็นแค่คนที่ขี้อาย สงบเสงี่ยม หรือเฉื่อยๆ ช้าๆ แต่จริงๆ แล้วในหัวพวกเค้าก็เหมือนเครื่องไดนาโมดีดีนี่เอง

คุณสมบัติในด้านที่ดี จากการเป็นคนสมาธิสั้น คืออะไรบ้าง 

    คนสมาธิสั้นโดยมากจะมีความคิดสร้างสรรค์, มีลางสังหรณ์ที่ดี, ชอบทำอะไรแหวกแนวไม่เหมือนใคร, และมีพลังบวกเยอะ พวกเค้ายังชอบคิดอะไรนอกกรอบเดิมๆ หรืออาจเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นดื้อ และโดยปกติจะเป็นคนอ่อนไหวง่ายแต่ก็จะไม่ถึงกับอ่อนแอด้วยความเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย พวกเค้าใจกว้าง ใจดี มักจะมีพรสวรรค์พิเศษในบางอย่าง มีประกายในดวงตา มีอารมณ์ขัน และมีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ถ้าหากได้รับแนวทางที่ดี คนเหล่านี้จะมีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตได้


คุณสมบัติด้านลบ ของคนสมาธิสั้นมีอะไรบ้าง 

     คนเหล่านี้มีปัญหาในการตั้งสมาธิและจดจ่อกับอะไรนานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่ตัวเองไม่ค่อยสนใจ หรือในทางกลับกันก็สามารถจดจ่อมากเกินไปในบางครั้ง บางทีพวกเค้าก็อาจจะหุนหันพลันแล่นหรือมีอาการอยู่ไม่นิ่งซึ่งอาจจะสร้างปัญหาได้ พวกเค้าจะมีปัญหาในการจัดการและการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ หรือการจัดการเวลา หรือแม้กระทั่งทำงานแต่ละอย่างให้เสร็จ เค้าอาจจะไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่เค้ามีต่อคนรอบข้างซึ่งทำให้เวลาเข้าสังคมอาจดูเป็นคนแปลกๆ หรือทำอะไรไม่เหมาะสม อีกเรื่องคือเค้าอาจลืมนู่นนี่ได้ง่าย หรือดูเป็นคนไม่ค่อยสม่ำเสมอเวลาทำอะไร และอาจจะมาสายบ่อยๆ พวกเค้ามีปัญหาในการวางแผนหรือศัพท์ทางจิตแพทย์เรียกว่า “ความสามารถในการบริหาร” (executive functioning) ข่าวดีคือการหาทางรักษาจะช่วยแก้ไขอาการเหล่านี้หรือข้อเสียเหล่านี้ให้ดีขึ้น และข้อดีของเค้าก็จะค่อยๆ เข้ามาเติมเต็ม

 แล้วควรจะรักษาอย่างไรบ้าง? 

    สำหรับผมการรักษาควรเริ่มจากการให้การศึกษา คุณต้องเรียนรู้ว่าอาการสมาธิสั้นคืออะไร และไม่เกี่ยวกับอะไร คุณต้องรู้จักการเป็นคนสมาธิสั้นให้ดีพอและยอมรับมันได้ และตระหนักว่าอาการต่างๆ เหล่านี้อาจจะมีผลทำให้คุณหยุดอยู่กับที่ และขณะเดียวกันก็ให้รู้ว่าการช่วยเหลือที่เหมาะสม จะทำให้คุณก้าวไปจนถึงฝันหรือเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ได้ คุณต้องเข้าใจด้วยว่าการเป็นคนสมาธิสั้นก็มีข้อดีและค้นหาว่าส่วนดีดีที่เกิดขึ้นกับชีวิตคุณคืออะไร

มื่อคุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นคนสมาธิสั้นมากพอ – ทั้งข้อดีข้อเสีย – คุณก็เริ่มการเปลี่ยนแปลงได้จากแนวทางที่เหมาะสม เช่น หาผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจเรื่องสมาธิสั้นเป็นอย่างดี และใช้แนวทางรักษาซึ่งต่อยอดคุณสมบัติดีๆ ที่คุณมีอยู่แล้ว มองการรักษาเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับชีวิตคุณ โดยปกติคุณต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยแนะนำให้คุณจัดการสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ต้องเข้านอนตรงเวลา และหาเวลาออกกำลังกาย การรักษาอาจเกี่ยวข้องกับการกินโดยดูเรื่องสารอาหารที่จำเป็น หรือคุณอาจจะต้องลองเปลี่ยนงานหรือโรงเรียนเพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในการจัดการกับอาการสมาธิสั้น และที่สำคัญการหาทางจัดระเบียบให้กับหลายๆ เรื่องในชีวิตก็จะส่งผลที่ดีมากๆ ตามมาด้วย เช่น จัดระบบเอกสารให้ดีขึ้น, วางแนวทางจัดการสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมขึ้น, หรือ ปรับตารางงานและชีวิตในแต่ละวันใหม่  

อีกอย่างคือคุณอาจจะต้องเล่าเรื่องของครอบครัวให้ผู้เชี่ยวชาญฟัง เช่นถ้าคุณยังอายุไม่มาก การพาครอบครัวมาฟังคำแนะนำด้วยก็จะช่วยได้มาก หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่และมีคู่รักมาร่วมการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญก็สำคัญมากเช่นกัน นอกจากการเรียนรู้ว่ามันคืออะไร การโค้ชชิ่ง และการบำบัด คุณยังควรมีแผนที่จะพัฒนาจากจุดแข็งและความสนใจของคุณ อาจจะใช้เวลาแต่ก็เป็นหัวใจสำคัญ เพราะชีวิตคนเราจะดีขึ้นได้ไม่ใช่จากข้ออ่อนที่เราแก้ไข แต่จากการพัฒนาจุดเด่นหรือพรสวรรค์ที่เรามีอยู่ แน่นอนการแก้ไขจุดอ่อนก็จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาข้อเด่นขึ้นมาได้เช่นกัน ฉะนั้นทั้งสองอย่างก็ต้องไปพร้อมๆ กัน

 การใช้ยาจะช่วยได้หรือไม่?

    ถ้าได้ยาที่ใช้ได้ดีกับคุณ ยาพวกนี้จะช่วยได้มากและปลอดภัยเหมือนคุณได้ใส่แว่นตา การใช้ยาช่วยทำให้คุณประหยัดเวลาในการรักษาถึง 80% คุณควรพบแพทย์ที่สามารถอธิบายผลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาอย่างชัดเจน คนจำนวนมากไม่รู้ว่าการใช้ยาก็ปลอดภัยและมีประสิทธิผลดีหากใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้นต้องหาแพทย์ที่มีประสบการณ์จริงเรื่องนี้และช่วยแนะนำคุณได้ ยาช่วยกระตุ้นสำหรับคนสมาธิสั้นมีหลายตัว เช่น Ritalin, Concerta, Adderall, Vyvanse, Focalin, หรือตัวอื่นๆ อีก หากใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ก็จะช่วยคุณได้มากจริงๆ

  การรักษาทางเลือกสำหรับอาการสมาธิสั้น เป็นอย่างไรบ้าง? 

     เรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ แต่สิ่งสำคัญคือไม่ว่าวิธีการไหนที่คุณจะลองต้องปลอดภัย และควรเป็นวิธีการที่ให้ผลที่ดีกับผู้มารับการรักษาจำนวนหนึ่งแล้ว วิธีรักษาทางเลือกที่ผมมีประสบการณ์ในทางที่ดี ก็เช่น LENs เป็นวิธีการเกี่ยวกับ biofeedback วิธีหนึ่ง, Learning Breakthrough เป็นกระบวนการกระตุ้นสมองส่วน cerebellar ด้วยการออกกำลังกาย, Cogmed การใช้เกมส์คอมพิวเตอร์ในการปรับปรุงสมองเกี่ยวกับความจำ, วิธี Sensory Solutions ของผมเป็นการตรวจสอบและกระตุ้นประสาทในส่วนรับความรู้สึกด้วยอุปกรณ์ iPod และหูฟัง, Reading plus การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการพัฒนาทักษะการอ่านและความเข้าใจ หรือวิธีการอื่นๆ ที่ดูเรื่องสารอาหารจากการกิน

Q: สำหรับคุณอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในโปรแกรมการรักษา 

A: การใช้แนวคิดเชิงบวกคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และแน่นอนคุณต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และเป็นที่รู้จัก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่คุณชอบด้วย เป็นคนที่คุณรู้สึกว่าเข้าใจคุณหรือลูกของคุณ คนที่คุณกล้าที่จะเปิดใจและเล่าเรื่องต่างๆ ได้อย่างสะดวกใจ การรักษาอาการสมาธิสั้นต้องใช้เวลา โดยมากใช้เวลาหลายปีดังนั้นต้องมั่นใจว่าคุณได้คนที่คุณเชื่อใจ คนที่ใส่ใจคุณและคนในครอบครัว และที่สำคัญคือคนที่มองเห็นเส้นทางไปสู่ความฝันของคุณหรือของลูกคุณได้อย่างชัดเจน

Q: ดร.ฮาโลเวล ประสบการณ์ของคุณในการทำงานเรื่องสมาธิสั้น (ADHD/ADD) คืออะไร 

A: ผมเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาในเรื่องสมาธิสั้น (ADD) และ dyslexia (ปัญหาของสมองที่สัมพันธ์กับการอ่าน) ร่วมด้วย ปัญหาเรื่องการอ่านของผมได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ตอนอยู่โรงเรียนแต่ผมไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการสมาธิสั้นจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย (ผมจบจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ด้วยเกียรตินิยมภาควิชาภาษาอังกฤษ, ในขณะที่ก็เรียนเตรียมแพทย์ไปด้วย ผมไม่ได้อยากโอ้อวด เพียงต้องการให้เห็นว่าสมาธิสั้นไม่จำเป็นต้องรั้งเราจากการตามความฝันเสมอไป), จบวิทยาลัยแพทย์ (จาก Tulane เป็นที่ที่ผมรัก ส่วนหนึ่งเพราะอยู่ที่ New Orleans และได้พบกับคนที่น่าสนใจมากมายในวิทยาลัยแพทย์), และจบการเป็นแพทย์ฝึกหัดด้านจิตวิทยาที่ Mass. Mental Health Center ของ Harvard, ที่นั่นผมโชคดีที่ได้เจอกับครูฝึกที่เข้าใจหัวจิตหัวใจของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง หลังจากการเป็นแพทย์ฝึกหัด ในระหว่างที่ผมกำลังรับทุนด้านจิตวิทยาเด็ก ผมเรียนรู้เกี่ยวกับอาการสมาธิสั้นแล้วจึงรู้ว่าผมเองก็มีอาการแบบนี้ ตอนนั้นผมอายุตั้ง 31 ปีแล้ว เป็นจังหวะการ A-HA !! ที่น่าสนใจจริงๆ   

ตอนนี้ผมอายุ 62 ปีแล้ว ก็ทำงานด้านการรักษาคนสมาธิสั้นและคนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ มาแล้วกว่า 30 ปี ผมเขียนหนังสือและเป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มในเรื่องนี้ ผมยังมีคลินิกช่วยบำบัดส่วนตัวที่บอสตันและนิวยอร์ค ผมได้เจอกับผู้รับการรักษาจากทุกช่วงอายุ ไม่ว่าเป็นคู่รัก, ครอบครัว, และกลุ่ม staff ของผมมีความสนใจตรงกันเกี่ยวกับสมาธิสั้นและบุคคลแสนพิเศษที่มีอาการเหล่านี้

Q: แนวทางในการรักษาอาการสมาธิสั้นของคุณมีความแตกต่างจากแนวทางอื่นๆ อย่างไร 

A: ที่ศูนย์ของผม เราไม่ได้มองคนสมาธิสั้นว่ามีความพิการหรือความพกพร่อง แต่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุปนิสัยของคนคนหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะทั้งที่ดีและไม่ดี งานของเราคือการส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีในขณะเดียวกันก็จำกัดความเสียหายที่จะเกิดจากด้านที่ไม่ดีให้น้อยลง แนวทางทางการแพทย์โดยทั่วไปมองอาการสมาธิสั้นว่าเป็นความผิดปกติ ซึ่งการมองข้ามด้านดีๆ ทำให้แนวทางรักษาก่อให้เกิดความผิดปกติใหม่ๆ ที่ร้ายแรงกับคนๆ นั้น เช่น ความอับอาย, ความกลัว, การสูญเสียความหวัง, สูญเสียความนับถือตัวเอง, หรือกระทั่งฝันสลาย

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา http://www.drhallowell.com/add-adhd/top10questions/

ดร.ฮาลโลเวล