พัฒนาการปกติ เดือนที่ 6

พัฒนาการปกติ เดือนที่ 6 “เริ่มเรียนรู้โลกภายนอก”



   ในวัยนี้เป็นการเรียนรู้โลกภายนอก พัฒนาการของเด็กแต่ละคน จะมีความหลากหลาย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจจะรู้สึกว่าลูกของตน ทำอะไรไม่ได้เท่ากับเด็กคนอื่นๆ ที่อายุไล่เลี่ยกัน ทั้งนี้เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความสนใจ และความสามารถที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การที่ลูกทำอะไรอย่างหนึ่งได้ช้ากว่าเด็กคนอื่น (แต่อาจจะทำบางอย่างได้ดีกว่าคนอื่น) จะเป็นเครื่องบอกว่า ลูกจะมีพัฒนาการช้ากว่า เนื่องจากขึ้นอยู่กับสิ่งเร้าที่มากระตุ้น และการเลี้ยงดูเด็กในตอนนั้น

     ในช่วงนี้ลูกจะเริ่ม “คืบ” ไปได้พอควร ส่วนใหญ่จะเข้าเกียร์ถอยหลัง ก่อนที่จะไปข้างหน้า และด้วยความอยากรู้อยาก เห็นอันเป็นธรรมชาติของเด็ก ก็จะทำให้เขาอยากออก “ไปเที่ยว” โดยการทำท่าทาง ให้คนอุ้มเขารู้ว่า เขาอยากจะไปข้างนอกแล้ว ซึ่งในแต่ละช่วง ลูกอาจจะคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ออกมาได้เอง

       คุณพ่อคุณแม่ ที่มีเวลาอยู่กับลูกมาก จะสามารถสังเกตเห็นวิวัฒนาการของลูกได้โดยง่าย ลูกจะชอบทำท่าเหมือน วิดพื้น เพื่อออกกำลังแขน และเรียนรู้การทรงตัวเช่นกันเมื่อจัดให้เขาอยู่ในท่านั่ง ก็จะเริ่มนั่งเองได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะยังต้องการการช่วยประคอง มิฉะนั้นก็จะค่อยๆเอนลงไปข้างหน้า หรือข้างข้างได้ เนื่องจากจะยังไม่สามารถทรงตัวได้ดีนักนั่นเอง

ลูกจะชอบให้อุ้มจับยืน และจะชอบคว้าของที่เขาสนใจ ซึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ ผลัดตกได้ง่าย ในตอนนี้ควรให้โอกาสเขาได้อยู่บนพื้นที่นุ่ม เช่นเบาะนวม ฯลฯเพื่อให้เขาได้หัดการใช้กำลังกล้ามเนื้อแขนขา และฝึกการทรงตัวของเขาบ้าง จะดีกว่าการอุ้มตลอดเวลา

        ลูกจะชอบเอามือที่กำลังจับสิ่งของต่างๆ ขึ้นมาเขย่า โดยจะยังไม่สามารถแยกได้ว่า เสียงที่ได้ยินนั้น เกิดจากการเขย่าสิ่งของ ไม่ใช่เกิดจากมือของเขา และจะพบว่าเด็กบางคน ชอบที่จะคว้าของ และโยน หรือปล่อยลงพื้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อสังเกตดูปฏิกิริยาของของที่ตกลงบนพื้น และคนอื่นๆ ว่าจะมีท่าทางอย่างไร และจะส่งเสียงให้รู้ว่า เขาไม่ยอม ถ้าไม่มีการนำของที่เขาปล่อยลงพื้นนั้นมาคืนเขา หรือมีการนำของนั้นไปเก็บ ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของสิ่งของ และคนรอบข้างของลูกวิธีหนึ่งการมองเห็น และการใช้มือ และนิ้วเล็กๆ ของลูกจะเริ่มดีขึ้น เขาจะสามารถมองเห็นของชิ้นเล็กๆ บนพื้นได้ดี แม้ว่าเขาจะยังไม่สามารถ เอานิ้วหยิบจับมันขึ้นมา เพราะในช่วงนี้ ลูกจะยังใช้มือทั้งมือ และชอบกำของ จะเริ่มจับของสองมือได้ และอาจเริ่มจะสลับของ จากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่ง (transferring things)

      ในช่วงนี้ ดูเหมือนเขาจะยังไม่เข้าใจคอนเซปต์ ของการให้ของที่เขามีอยู่ในมือออกไป คุณอาจจะลองเล่นกับเขา โดยการเอาของให้เขา ทีละชิ้น ให้เขากำไว้ทั้งสองมือ พอให้ชิ้นที่สาม เขาจะยังอยากได้ แต่ก็จะไม่ยอมปล่อยของ ที่มีในมือ คุณลองขอ (ทำท่าทาง และพูด “ขอ ๆ”) แล้วดูปฏิกิริยาของเขาว่า จะทำอย่างไร

       ลูกจะเริ่มพูดส่งเสียงสูงต่ำได้ หลายโทนเสียง เริ่มจะรู้จักชื่อสิ่งต่างๆ ใกล้ตัว เมื่อคุณเรียกชื่อสิ่งนั้น เขาจะทำท่ามองหาได้ ลูกจะเข้าใจ “ความหมาย”ของสิ่งที่คุณพูด โดยการเรียนรู้ท่าที และฟังโทนเสียงของคุณ ฉะนั้นเขาจะทำหน้าตา และท่าทางตอบสนอง ต่อเสียงเรียกของคุณหรือเสียงดุ ได้แตกต่างกัน

    ช่วงนี้ลูกจะดูเหมือนมีอารมณ์หงุดหงิด หรืออาละวาดบางครั้ง ถ้ามีสิ่งไม่ถูกใจเขา และเช่นกัน ก็อาจจะหยุดร้อง กลายเป็นยิ้มได้ทั้งน้ำตา เมื่อมีอะไรที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้นมาหลอกล่อ เบนความสนใจของเขา จากเรื่องเดิม

   ลูกจะชอบสำรวจคุณ โดยการเอามือมาแตะหน้า แตะปากคุณ เวลาที่คุณอุ้มเขา และจะเหมือนชวนคุณเล่นกับเขาด้วย โดยการทำเช่นนี้ ลูกกำลังเรียนรู้คอนเซปต์ที่ว่า คุณคือตัวคุณ และเขาเป็นตัวเขา ไม่ใช่คนๆ เดียวกันอีก

เด็กจะชอบเล่น “จ๊ะเอ๋” หรือ การเล่น “ซ่อนหา” อย่างง่ายๆ เมื่อคุณทำท่าจะเดินห่างจากเขา ลูกจะเริ่มทำท่าทาง หรือส่งเสียงเรียก ให้คุณต้องกลับมาหาเขาใหม่และเมื่อคุณเดินหายไปจากสายตา ลูกจะยังคงมอง และคอยให้คุณโผล่กลับมาหาเขาอีก

   ในช่วงนี้ ลูกจะชอบทานอาหารเด็กที่คุณป้อน และจะเริ่มทานได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกทานนมน้อยลง ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลกลัวว่า ลูกจะไม่โต อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว ก็จะไม่มากเท่าในช่วง 4 เดือนแรก ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเครียด และพยายามยัดเยียด ให้ลูกทานนมมากขึ้น หรือบางรายกลับลดข้าวตุ๋นที่ให้ลูกลง ซึ่งไม่ควรทำดังนั้น เนื่องจากข้าวที่คุณตุ๋นให้นั้น จะมีคุณค่าทางโภชนาการ และแคลอรี่เพียงพอ ดังนั้นลูกจะไม่เกิดการขาดอาหารอย่างแน่นอน

    คุณสามารถให้อาหารเสริมแทนนม 1 มื้อ เมื่อครบ 6 เดือน (ยังต้องระวังการสำลักอาหารหรือ ติดคอ และระวังเรื่องการแพ้อาหารบางอย่าง เช่น อาหารทะเล และไข่ขาวอยู่)

ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่หลายคน จะคอยเปรียบเทียบลูกของตน กับเด็กคนอื่น และเกิดความกังวล ในเรื่องต่างๆ เช่น “ทำไมฟันยังไม่ขึ้น”, “ทำไมยังไม่เกาะยืน”ฯลฯ ซึ่งเด็กในวัย 6 เดือนนี้ ส่วนใหญ่จะยังทำไม่ได้
ซึ่งอยากจะให้คำแนะนำว่า พัฒนาการของเด็กที่นำมากล่าวในที่นี้ เป็นเกณฑ์เฉลี่ย ของเด็กโดยทั่วไป แต่สำหรับเด็กแต่ละคนแล้ว แม้ว่าจะเกิด วัน เดือน ปีเดียวกัน (แม้แต่ลูกแฝด) ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีการพัฒนาได้เท่ากัน และเด็กแต่ละคน ก็มีความชำนาญในการทำสิ่งต่างๆ ได้แตกต่างกันด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
http://www.clinicdek.com