พัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 7 เดือน (19 เดือน)

การพัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 7 เดือน (19 เดือน) "นักเคลื่อนไหวตัวน้อย"

ลูกจะเริ่มมีคอนเซปต์การคิด หรือการมองสิ่งต่างๆแบบผู้ใหญ่ได้บ้าง เมื่อบางครั้งสิ่งต่างๆไม่เป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็นลูกจะสังเกตได้ เช่น ลูกจะหัวเราะเมื่อเห็นอะไรผิดปกติไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น : คุณแหย่เขาเล่น โดยแกล้งทำของตก แล้วทำท่าตกใจ เด็กจะรู้ว่าคุณแกล้งทำ และหัวเราะชอบใจได้ , หรือแกล้งทำเป็นเรียกชื่อเขาผิดเป็นชื่อของเด็กอีกคนหนึ่ง , หรือเอาของเล่นตุ๊กตา ที่มีตาหายไปข้างหนึ่ง (เหลือตาเดียว) ให้เขาเล่น เขาจะสังเกตรู้ได้ว่ามันผิดปกติไป, หรือจะรู้ว่าที่พรมมีรอยเปื้อนใหม่เกิดขึ้น โดยเขาจะชี้ให้คุณดูได้

     ช่างพูดจำนรรจา

     แม้ว่าคุณอาจจะพยายามฟังลูกพูด และรู้ว่าเขาพูดได้มากมายหลายคำ แต่ส่วนใหญ่เกินครึ่งคำเหล่านั้นก็ยังไม่เป็นภาษาอย่างที่เราพูดกัน แต่ลูกดูเหมือนจะฟังคุณได้เข้าใจมากกว่า เขาจะรู้เรื่องที่คุณพูดกับเขาได้ดีทีเดียว และจะพยายามพูดกับคุณด้วย เขาจะเริ่มเอาคำ 2 คำมารวมกัน เช่น “ไม่-เอา” “ เที่ยว-ไป” ฯลฯ ซึ่งถูกบ้างผิดบ้าง แต่เขาจะค่อยๆ เรียนรู้มากขึ้นเองทีหลังว่าคำไหนถูก


     เจ้านายน้อยและชอบต่อรอง

     ลูกจะดูเหมือนดื้อ ชอบทำอะไรเองตามที่เขาต้องการโดยไม่ค่อยยอมฟังคุณพ่อคุณแม่เท่าไรนัก เพราะวัยนี้เป็นวัยที่เขากำลังเรียนรู้ การเป็นตัวของตัวเอง เพื่อลดปัญหาการขัดแย้งกันกับลูก คุณควรจะปฏิบัติต่อลูก เหมือนกับที่คุณอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับคุณ

    คุณควรเลือกทางสายกลางประนีประนอมจะดีกว่าการออกคำสั่ง เช่น เวลาจะให้ลูกเก็บของเล่น ที่เขารื้อกระจายออกมาเต็มเตียง แทนที่จะสั่งว่า “ เก็บของเล่นให้หมดก่อนไปกินข้าว” ก็อาจจะใช้เป็นว่า “ เรามาช่วยกันเก็บของดีไหม....แม่จะช่วยเก็บบอลให้ ส่วนลูกเก็บตุ๊กตามาไว้ในกล่องนี้นะคะ” ลูกก็จะช่วยคุณทำได้โดยดี หรือแทนที่จะบอกว่า “ห้ามออกไปเล่นข้างนอก เดี๋ยวฝนตก จะเปียกหมด” คุณอาจจะพูดเป็นว่า “ตอนนี้ฝนตก เรามาอ่านหนังสือกันดีกว่า รอฝนหยุดค่อยออกไปเล่นข้างนอกนะคะ”

    การเข้าสังคม

     ในวัยนี้ลูกจะได้เรียนรู้จากการเล่นอย่างอิสระ คุณไม่จำเป็นต้องพยายามสอนให้เขาเล่นอย่างที่คุณคิดว่าจะต้องเป็น แบบที่เด็กโตๆ เขาเล่นกัน จนกว่าอายุประมาณ 3 ขวบที่เด็กจะเริ่มเรียนรู้การเล่นด้วยกัน อย่างที่จะไม่เกิดปัญหา ดังนั้นในวัยนี้แม้ว่าเขาจะมีเพื่อนเล่น แต่ก็จะยังไม่รู้จักการแบ่งปัน หรือผลัดกันเล่น และอาจจะไม่สามารถเล่นด้วยกันได้ เพราะมัวแต่แย่งของเล่นจากกันและกันเอง เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังไม่มี คอนเซปต์ในการแบ่งกันและเล่นด้วยกันนั่นเอง

ขอบคุณผู้เชียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์

อ่านต่อ »

พัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 6 เดือน (18 เดือน)

การพัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 6 เดือน (18 เดือน) "นักสำรวจโลกใบเล็ก"
การพัฒนาการในวัยนี้
     
 คราวนี้ลูกเดินได้คล่องดีแล้ว เริ่มปีนป่ายกระไดได้สูงขึ้น และชอบปีนเตียง ปีนเก้าอี้ไปทั่ว ลองให้เตะบอล ก็จะพอทำท่าเตะได้ แต่ยังเตะไม่เป็น เมื่อคุณเปิดเพลงให้เขาฟัง เขาจะชอบทำท่าเต้น และของโปรดคือ การหมุนปุ่มต่างๆ ของหน้าปัด ทีวี, วิทยุ ฯลฯ เท่าที่เขาจะหมุนได้ โดยเฉพาะบรรดาปุ่มที่พอหมุนแล้ว จะมีเสียงหรือภาพเปลี่ยนไปให้เห็น คือว่าเขากำลังลองของดูว่า ถ้าหมุนปุ่มนี้ จะเกิดอะไรขึ้น ปุ่มนั้นจะเกิดอะไรขึ้น และจะพยายามลองทำอีกบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ที่รู้ใจ ก็อาจจะยอมให้เขาได้ลองปิดเปิดสวิทช์ (อันที่ปลอดภัย) หรือหมุนปุ่มปรับเสียง (รีโมตคอนโทรก็ได้) ของวิทยุ ทีวี ดูบ้าง หรือซื้อของเล่นที่มีปุ่มต่างๆให้ลองกดเล่น แล้วมีเสียง หรือแสงไฟ และตุ๊กตาโผล่ออกมาทักทาย ลูกก็จะง่วนเล่นของชิ้นนั้นได้อีกนาน



     การฝึกการขับถ่าย (Toilet training)

     ก่อนที่ลูกจะบอกว่า เขาอยากจะอึ หรือฉี่ได้ เขาจะต้องเรียนรู้ ถึงความรู้สึกในตัวเขาที่เกิดขึ้น เวลาที่ร่างกายต้องการขับถ่าย เช่น รู้จักปวดฉี่, ปวดอึ และรู้จักการหัดควบคุมการฉี่ หรืออึได้บ้าง แม้จะได้ไม่นาน ซึ่งเด็กต้องมีอายุ ประมาณ 18 เดือนขึ้นไป ที่จะพอจะรับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านี้และเริ่มสามารถควบคุมได้บ้าง

     ซึ่งการที่คุณพ่อคุณแม่ จะเริ่มฝึกการขับถ่ายให้เขาได้นั้น คงจะต้องคอยสังเกตดูว่า เขานั้นมีความพร้อมในการฝึกเรื่องนี้บ้างหรือยัง (ดูในบท ฝึกการขับถ่าย)

    พัฒนาการด้านความจำ และความคิด, จินตนาการ

     จากช่วงอายุ 18 เดือนถึง 2 ขวบ ลูกจะเริ่มพัฒนาคอนเซปต์ของการมีอยู่ หรือหายไปของคนและสิ่งของที่เขาคุ้นเคย จะเริ่มจำได้ และรู้ว่าของที่เขาเคยเห็น แม้ว่าจะไม่เห็นอยู่ต่อหน้าเขาในตอนนี้ ก็จะยังอยู่ และเขาจะพยายามหาของ (หรือคน เช่น คุณแม่) ได้ ถ้าคุณเอาของให้เขาดู แล้วทำการซ่อนของไว้ใต้ผ้าคลุม โดยทำให้เขาเห็นอยู่ต่อหน้า เขาจะรู้ว่าของนั้นอยู่ใต้ผ้า และจะรีบเอามือหยิบผ้าออก เพื่อให้เห็นของได้อีก ทำให้เขาตื่นเต้นที่ได้เจอของชิ้นนั้น และเช่นกัน ถ้าคุณแอบเอาของที่เขาเห็นอยู่ตรงหน้าไปซ่อน โดยไม่ให้เขาเห็น พอเขาเปิดผ้าดูแล้วไม่เจอของนั้น เขาจะทำท่าค้นหาของนั้น จนเจอได้ (ถ้าคุณซ่อนมันอย่างง่ายๆให้เขาลอง “ค้นหา” ดู)

    เริ่มติดผ้าห่ม หรือตุ๊กตาประจำตัว และชอบทำอะไรซ้ำๆ

     สำหรับเด็กวัยนี้ การได้กอดตุ๊กตา หรือผ้าห่มประจำตัวไว้แนบกาย จะเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กใช้มันเป็นเครื่องผ่อนคลายความวิตกกังวล และทำให้เขาสงบลงได้ บางคนอาจมีนิสัยทำอะไรซ้ำๆ เช่น เอานิ้วปั่นผม (ผมตัวเองมั่ง, ผมคุณแม่มั่ง) ก่อนที่จะนอนหลับไปได้ บางรายจะดูดนิ้ว หรือ โยกศีรษะ, โยกตัว (rocking) ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ มักจะหายไปได้เอง เมื่อลูกอายุได้ประมาณ 4 ขวบ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรจะไปกังวล และคอยบังคับเขาไม่ให้ทำในตอนนี้

    การฝึกวินัยและการเลี้ยงดู (Discipline)

     คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสอนลูกให้รู้จัก “ถูก-ผิด” และ “ควร-ไม่ควร” ด้วย โดยการทำตนเป็นตัวอย่าง และแสดงออกถึง ความสุภาพ, ความเคารพ, และความเอื้อเฟื้อ ต่อผู้อื่น, ไม่ควรใช้ความรุนแรง เช่นการตี หรือการดุด่าว่าเด็ก เป็นการสอนเด็ก เพราะความรุนแรงที่ผู้ใหญ่ทำต่อเด็ก ไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้ทุกอย่างแย่ลง เด็กจะยิ่งต่อต้านมากขึ้น และจะเรียนรู้ว่า การใช้กำลัง นั้นเป็นเรื่องธรรมดา และเขาสามารถใช้กำลังกับคนอื่นๆได้ เพื่อให้ได้อย่างที่เขาต้องการ เพราะเขาเองเติบโตมาในสภาวะเช่นนั้น ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

    วัคซีนป้องกันโรค

     มีวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และโปลิโอ ครั้งที่ 4 ที่ควรทำเมื่ออายุ 18 เดือน ในรายที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ฮิบ ร่วมกับวัคซีนนี้ ในตอนอายุ 2, 4, 6 เดือนมาก่อน ก็อาจจะให้วัคซีนป้องกันโรคฮิบ ร่วมด้วยใน เข็มที่ 4 นี้ก็ได้ (โปรดปรึกษาแพทย์ของท่านในเรื่องนี้เวลาพาลูกไปตรวจสุขภาพ อายุ 18 เดือน, ดูในบทวัคซีน)

ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานทท์


อ่านต่อ »

พัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 5 เดือน (17 เดือน)


      เด็กวัยนี้จะพูดคำศัพท์ต่างๆได้ดีมากขึ้น และเริ่มรวมคำเป็นประโยคง่ายๆ เช่น “ไม่ไป”, “ไปเที่ยว”, “นกบิน”, ลูกจะเริ่มถอดเสื้อผ้าออกเองได้ และเล่นตุ๊กตา (ทำท่าป้อนนมตุ๊กตาฯลฯ) และในบางราย จะเริ่มลองแปรงฟันเอง (ทำตามคุณพ่อคุณแม่) แต่คุณยังต้องช่วยเขา 

    เริ่มรู้จักแยกแยะของต่างๆ
ลูกจะเริ่มรู้จักว่าของต่างๆ กันมีรูปทรง และขนาดแตกต่างกัน พอจะรู้ถึงความแตกต่างของสี (ถึงแม้จะยังเรียกชื่อสีต่างๆไม่ได้) และลักษณะของสิ่งต่างๆ เด็กจะชอบเล่นเอาของเข้าออกในตะกร้าของเล่น และจะพบว่า เขาจะเริ่มจัดกลุ่มของของที่เขาเล่นอยู่ ออกเป็นเกณฑ์ต่างๆ เช่น ของสีเดียวกัน หรือ รูปทรงยาวเหมือนกัน อยู่เป็นกลุ่มเดียวกัน


     เริ่มฝึกมารยาท เด็กจะเริ่มมีพฤติกรรมต่างๆ ตามใจตนเอง ซึ่งเขาก็จะโตพอ ที่จะรับรู้การปฏิบัติตนกับคนอื่นๆ บ้าง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ ก็จะสามารถเริ่มการฝึกเรื่องมรรยาท การปฏิบัติตัว เมื่อจะทำอะไร หรือเมื่ออยู่กับคนอื่นๆได้บ้าง เช่น การพูดว่า “ขอบคุณ ค่ะ/ครับ” , การพูดที่สุภาพ มีน้ำเสียงน่าฟัง , การยกมือไหว้ทักทายผู้ใหญ่ ฯลฯ ซึ่งเด็กจะอยากทำตามเรา ถ้าเราทำเป็นนิสัย และบอกให้ลูกทำตามด้วย ก็จะเป็นการปลูกฝังมรรยาทที่ดี ให้แก่เขาไปตลอด และเป็นการแสดงความเคารพผู้ใหญ่และคนอื่นๆ ที่ดี

    เริ่มจู้จี้....กินข้าวยาก....
     คุณพ่อคุณแม่ทุกคนที่มีลูกในวัยนี้ จะรู้ว่าการพยายามป้อนข้าวให้ลูกวัยนี้ นั้นยากเพียงไร ลูกจะยังไม่มีคอนเซปต์ว่า ต้องทานอาหารเป็นมื้อ หรือต้องทานให้หมดจาน อย่างที่คุณต้องการ เด็กเองมีสิ่งยั่วยวนใจหลายอย่างอยู่ตรงหน้า ที่จะทำให้เขาลืมเรื่องการทานอาหารได้ เช่น ทีวีที่กำลังตื่นเต้น หรือ เด็กคนอื่นๆที่กำลังวิ่งเล่นกันอยู่


     บางช่วงจะดูเหมือนเขาเบื่ออาหาร คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะพยายามสรรหาอาหารนานาชนิด เลือกเอาแบบที่มีสารอาหารครบถ้วนที่สุดมาให้ และเปลี่ยนเมนูเป็นว่าเล่นทุกวัน แต่การทำดังนั้น จะไม่ได้ช่วยให้ลูกทานได้มากขึ้น เลยทำให้คุณแม่บางคนเครียดจัด จนทำให้เวลาทานอาหารของลูก เหมือนการเข้าสู่สงครามเอาชนะกัน

        ที่จริงแล้วเด็กวัยนี้เขาจะหิว และทานเองตามที่เขาต้องการ ซึ่งอาหารที่ชอบอาจจะเป็น ของที่หยิบจับเข้าปากเองได้ (finger food) เช่น แซนวิชชิ้นเล็กๆ, ข้าวปั้นเป็นก้อน, ขนมปัง ฯลฯ และไม่ควรจะบังคับให้ลูกต้องทานอาหารให้ครบห้าหมู่ในแต่ละมื้อ หรือแต่ละวัน คุณควรจะคอยดูแลจัดอาหารที่มีประโยชน์เหล่านี้ หมุนเวียนสลับไปบ้างในแต่ละอาทิตย์ โดยใช้อาหารธรรมดาที่เขาคุ้นเคยไม่กี่อย่างจะดีกว่า (ดูในเรื่องโภชนาการของเด็กวัยนี้)
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์

------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านต่อ »

พัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 4 เดือน (16 เดือน)

การพัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 4 เดือน (16 เดือน) "เรียนรู้การเข้าสังคม"



     เกมที่ลูกชอบ

     ลูกจะเริ่มขีดเขียน (แบบไก่เขี่ย), อยากเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของบ้าน ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ลูกมักจะขอมีส่วนด้วยเสมอ, เอานิ้วชี้มา “จุ๊...จู๊” ที่ปากได้, ชอบเล่นจ๊ะเอ๋, ชอบต่อบล็อก, ชอบเล่นเกมส์ ทายส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น “จมูกอยู่ไหน?” , ลูกจะเริ่มให้ความร่วมมือ กับการแต่งตัวให้เขามากขึ้น, จะชอบปีนขึ้นและลงกระได (ปีนได้ทั้งวัน) แต่ยังไม่สามารถทำได้ดีนัก ยังต้องระวังตกกระได เนื่องจากเขายังไม่รู้จักการควบคุมการทรงตัว อย่างผู้ใหญ่ได้ดีนัก (กำลังเรียนรู้วิธีอยู่นั่นเอง) 

     อยากทำเองแต่ยังทำไม่เป็น...ทำไม่ได้

     ลูกกำลังฝึกฝนตนเองหลายอย่าง ว่าจะปีนกระได เดินเร็วๆ (หรือวิ่ง) แต่เนื่องจากยังไม่มีทักษะมากพอ ก็มักจะล้ม หรือทำไม่ได้ดังใจ ทำให้เขารู้สึกหงุดหงิด เมื่อทำไม่ได้ คุณสามารถช่วยให้เขาได้ฝึกทักษะเหล่านี้บ่อยๆ ก็จะทำให้เขามีความมั่นใจ และทำได้ ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนการพัฒนาการด้านอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นต่อไปตามเกณฑ์ของอายุ

     อาละวาด... ลงไปดิ้น(Temper tantrum)
    
 บางครั้งลูกจะมีอารมณ์ต่างๆ ประดังเข้ามามาก ทำให้เขาซึ่งยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างผู้ใหญ่ รู้สึกว่าจะต้องแสดงออก ซึ่งก็จะเป็นในรูปแบบที่พบบ่อย คือ “ อาละวาด....ลงไปดิ้น..” ซึ่งเป็นวิธีหนึ่ง ที่ลูกใช้ เพื่อปลดปล่อยอารมณ์แรง ที่มีในตัวเขาออกมา ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และรู้วิธีดูแลเขา ก็จะทำให้เขาสงบลง และกลับเป็น “เด็กดี” เหมือนเดิมได้ในเวลาไม่นาน อย่าลืมว่า วิธีการอาละวาด และลงไปดิ้นกับพื้นนั้น เป็นวิธีหนึ่งที่ลูกค้นพบ และใช้เป็นทางระบายออกของอารมณ์ของเขา คุณไม่ควรจะโมโห หรือ ไปตี ทำโทษเขาที่ทำเช่นนั้น แต่ควรควบคุมอารมณ์ของเราให้นิ่งก่อน และอยู่ข้างๆ (ห่างไปไม่ไกล) และคอยให้เขาสงบลงเอง ก่อนเข้าไปปลอบ

     อ่านหนังสือกับลูก
    
 ถ้าคุณฝึกอ่านหนังสือกับลูกมาแล้ว ตั้งแต่ตอนที่ลูกยังเล็ก ก็ขอให้ทำต่อไป (สำหรับคนที่ยังไม่ได้เริ่ม ก็ควรเริ่ม ทำการอ่านหนังสือกับลูกด้วย) , ลูกยังอยากเรียนรู้อีกมาก และเด็กเองจะชอบที่มีคุณอยู่ใกล้ ควรให้ลูกเลือกหนังสือที่จะอ่านเอง และอ่านไปกับเขา แม้ว่าคุณจะพบว่า อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นครั้งที่ร้อยแล้วก็ตาม คุณสามารถช่วยลูกให้เรียนรู้สิ่งอื่นๆในหนังสือได้ เช่น การพูดถึงสัตว์ต่างๆ ที่มีในเรื่อง หรือของอื่นที่มีอยู่ในภาพ และสอนให้ลูกเรียก “สี” ต่างๆ ของเสื้อผ้าที่ตัวเอกของเรื่องใช้ ฯลฯ


ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์

อ่านต่อ »

พัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 3 เดือน (15 เดือน)

การพัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 3 เดือน (15 เดือน) "นักสำรวจ"


ชอบเล่นเกม

     มาถึงตอนนี้ลูกควรจะเดินได้คล่อง และบางทีวิ่งแล้ว พูดได้หลายคำ และชอบลากหรือดันของเล่นเดินไปมา บางคนจะหัดเดินถอยหลังได้ เริ่มใช้ช้อนและส้อม ในการตักอาหารได้ดีขึ้น ลูกจะชอบให้คุณเล่นเกมกับเขา เช่น เอานิ้วชี้ที่หู แล้วถามว่า หูอยู่ไหน หรือ มองกระจกเงาดูตัวเอง แล้วถามว่า นั่นใครเอ่ย ลูกจะชอบเอาของหยอดลงกล่อง และชอบลองดูว่า ของไหนจะฟิตกับช่องไหน (ควรหาของเล่นที่เป็นกระป๋อง ที่มีฝาเป็นช่องขนาดต่างๆ และมีชิ้นพลาสติกรูปทรงต่างๆ ที่ฟิตพอดีให้เด็กได้ลองใส่ลงไปทีละช่อง เพื่อฝึกทักษะการสังเกตรูปทรงที่แตกต่างกัน

     อารมณ์และบุคลิกประจำตัว

     เด็กแต่ละคนเป็นปัจเจกบุคคล เหมือนคุณเองเช่นกัน และแต่ละคนก็เกิดมาพร้อมกับคุณลักษณะประจำตัว และมีวิธีการที่จะตอบสนองต่อคนอื่นๆ และเรื่องต่างๆในแบบของตนเอง ซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้นคุณสมบัติ และบุคลิกเฉพาะตัวเหล่านี้ ก็จะแสดงออกชัดเจนขึ้น ในขณะที่เด็กคนหนึ่งอาจจะเป็นเด็กเรียบร้อย และมีความสามารถในการปรับตัว เข้ากับสภาวะต่างๆ รอบข้างได้ดี แต่อีกคนหนึ่ง อาจจะมีลักษณะ เป็นคนเจ้าระเบียบ และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆอะไรเลย คุณควรจะลองสังเกตดูว่า ลูกจะเป็นคนที่มีบุคลิก และลักษณะประจำตัวเป็นเช่นไร เพื่อที่จะได้ปรับสภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูให้สอดคล้องไปกับเขา เพื่อส่งเสริมให้เขาสามารถ นำส่วนที่ดีในตัวเขาออกมาใช้ได้ ซึ่งจะเป็นหลักที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในอนาคต

     เริ่มรู้จักว่าตนเองนั้นมีตัวตน (Awareness of self)

     ที่อายุ 15 เดือน ลูกจะเริ่มแยกแยะได้ว่า ภาพเด็กที่เขาเห็นอยู่ในกระจกเงานี้ คือตัวเขา ไม่ใช่เด็กคนอื่น ที่มาเล่นด้วยกับเขา เขาจะไม่พยายามเอามือยื่นออกไปจับภาพในกระจก เพื่อทักทาย “เด็กคนนั้น” อีก ลูกจะเริ่มรู้จักว่า ตนเองนั้นมีตัวตน และแตกต่างจากคนอื่น (autonomy) จะไม่ใช่รู้สึกว่า เป็นคนๆเดียวกันกับคุณแม่อีกต่อไป

     เริ่มดื้อ…(จริงหรือ? )


     เนื่องจากเด็กเริ่มที่จะแยกตนเอง ออกจากแม่ได้ และกำลังฝึกฝนความเป็นตนเองอยู่ เด็กจึงดูเหมือนจะไม่ยอมฟังผู้ใหญ่ ที่มักจะคอยห้าม ไม่ให้เขาทำโน่น ทำนี่ ต้องการให้เขาต้องทำตาม ที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำ แต่เขาก็ไม่ยอมทำตาม เพราะเขาต้องการเป็นคนตัดสินใจเอง เป็นตัวของตัวเอง (sense of self) จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจจะรู้สึกว่าลูกเริ่มดื้อขึ้น พอเด็กซนเล่น ต่อหน้า ก็จะคอยห้ามทำโน่น ห้ามทำนี่ อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะรู้ว่า ถึงอย่างไรลูกก็ไม่ฟังเรา และไม่ยอมทำตามที่บอก ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจขั้นตอน ของการพัฒนาการของลูก ในช่วงอายุนี้แล้ว ก็จะไม่รู้สึกโกรธ และจะไม่พยายามกล่าวคำว่า “ห้ามทำ…. อย่านะ….” อยู่ตลอดโดยไม่เป็นผล หรือจะไม่ฉุน จนเกิดการลงโทษเด็กที่ “ดื้อ” เพราะเขาไม่ยอมทำตาม ที่ผู้ใหญ่สั่งนั่นเอง เราจึงควรหาวิธีที่จะลดปัญหาความขัดแย้งนี้ลง โดยการพูด หรือแสดงออกในเชิงบวก เช่น แทนที่จะพูดว่า “อย่าจับแก้วนั้นนะ” ก็อาจจะพูดเป็น “ลูกปลามาเล่นกับแม่ที่ตรงนี้ดีไหมคะ” ก็จะทำให้เด็กรับฟังเรามากขึ้น

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านต่อ »

การพัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 2 เดือน (14 เดือน)

การพัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 2 เดือน (14 เดือน) "ท้าทายและฝึกฝน"

      การพัฒนาการหลัก ที่ลูกควรทำได้แล้ว
       
     ช่วงอายุนี้ ลูกควรจะทำมือ “บ้าย…บาย” และในบางคนจะสามารถกลิ้งลูกบอลไปและกลับ เมื่อเล่นกับผู้ใหญ่ หลายรายจะสามารถดื่มจากถ้วยได้ และบางคนจะเริ่มทำตัวเป็น “ผู้ช่วยใหญ่” ของบ้าน ลูกควรจะยืนเองได้นาน และสามารถนั่งลงเอง และยืนขึ้นด้วยตัวเองได้ ในบางรายที่มีความคล่องตัวมาก และเดินได้เก่งแล้ว อาจสามารถเดินถอยหลังได้บ้าง ลูกจะเรียนรู้ศัพท์ต่างๆใหม่ๆ ทุกวัน และจะพูดได้หลายคำขึ้น เขาจะเริ่มรู้ว่าเขาต้องการสิ่งไร และรู้วิธีที่จะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ

     อยากรู้-อยากลองไปทุกอย่าง
    
       ด้วยความตื่นเต้นที่เขาสามารถเดิน ไปหาสิ่งที่เขาสนใจได้โดยง่าย ทำให้ลูกเห็นอะไรน่าจับ น่าลองไปหมด คุณพ่อคุณแม่จึงควรตรวจดูสภาพในห้องของลูก และในบ้านบริเวณที่ลูกจะไปถึงได้ ให้มีความปลอดภัย เช่น การล็อกลิ้นชักของตู้และโต๊ะ, การเอาเทปกาวปิดรูปลั๊กไฟ, การเก็บของมีคม หรือเครื่องแก้วให้พ้นมือเด็ก ฯลฯ ก็จะทำให้คุณพอจะสบายใจได้ว่า ลูกจะปลอดภัยในระดับหนึ่ง คุณอาจจะหากล่อง หรือ ลังพลาสติกสำหรับให้ลูก ใส่ของเล่นที่ปลอดภัย เช่น กล่องพลาสติกขนาดไม่เล็กนัก, ตุ๊กตา, ลูกปิงปอง ฯลฯ ไว้ให้เขารื้อค้น เอาเข้าเอาออกได้เองง่ายๆ เขาจะชอบมากที่จะได้ช่วยคุณ “จัดของ” และ นั่นคือการเรียนรู้ที่สำคัญ อีกขั้นหนึ่งสำหรับลูก

     เรื่องกิน….เรื่องใหญ่…

     เด็กในวัยนี้ จะยังไม่มีคอนเซปต์ ของการทานอาหารเป็นมื้อ อย่างที่ผู้ใหญ่ทำกัน สำหรับเขาแล้ว การกินก็เหมือนกับสิ่งอื่นๆ ที่เขาตื่นเต้น เป็นของใหม่ที่น่าลอง น่า….ทำให้เละ ! นั่นคือเขากำลังเรียนรู้นั่นเองว่า ของนุ่ม ของหวาน ของแข็งเป็นอย่างไร และอยากรู้ว่า ถ้าลองละเลงเล่นจะเกิดอะไรขึ้น… และถ้าตกลงพื้นแล้วเกิดอะไรขึ้น …จึงเป็นที่แน่นอนว่า แต่ละมื้อของลูกจะเลอะเทอะบ้าง เขาจะพยายามฝึกทักษะ การจับช้อนเข้าปาก ซึ่งเป็นการฝึกการใช้มือ และการสั่งงานระดับสูงขึ้นของสมอง ให้มีการประสานงานกันระหว่างการใช้มือและสายตา ในการป้อนอาหารใส่ปาก คุณควรเตรียมสถานที่ บริเวณที่ใช้ป้อนอาหารเด็ก ให้สามารถทำความสะอาดได้ง่าย

    เริ่มมีความผูกพันกับสิ่งของ ที่ทำให้เขารู้สึกสบาย

       เด็กเริ่มต้องการความมั่นใจ และสิ่งต่างๆ ที่มาช่วยให้เขารู้สึกสบายใจ (sense of security) จึงจะเห็นว่า เด็กบางคนเริ่มติดตุ๊กตา บางคนเริ่มติดผ้าห่ม หรือหมอน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจะสามารถหันหา เพื่อความสบายใจ เมื่อเกิดความรู้สึกกลัว หรือไม่สบายใจ โดยเฉพาะเมื่อตอนเหนื่อยๆ หรือง่วงนอน และตอนที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ลูก ซึ่งการติดของเหล่านี้นั้น เป็นขั้นตอนการพัฒนาการที่ปกติ และไม่มีผลกระทบ ทางด้านลบต่อเด็กในอนาคต จึงอยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเขา และยอมให้เขาได้มีสิ่งเหล่านี้ไว้ข้างกาย เมื่อเวลาเขารู้สึกคิดถึงมัน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์

อ่านต่อ »

การพัฒนาการของเด็ก 1 ปี 1 เดือน (13 เดือน)

การพัฒนาการของเด็ก 1 ปี 1 เดือน (13 เดือน) "วัยแห่งการเรียนรู้"


 การยืนและเดิน ในตอนนี้เด็กหลายคนจะเริ่มเดินได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่คล่อง ยังมีท่าเดินแบบขากางๆ และได้ไม่กี่ก้าว บางคนยังอาจเพียงแค่เกาะยืน ไต่ไปตามขอบเก้าอี้โซฟา และชอบที่จะคลานไปยังที่ที่ตนเองต้องการจะไป และสามารถคลานได้เร็วมาก ซึ่งไม่ว่าลูกจะถนัดเดินหรือคลาน ก็เป็นขั้นตอนการพัฒนาการที่สำคัญอันหนึ่ง คือการที่ลูกเริ่มทำด้วยตนเอง ไม่ต้องคอยให้คนอื่นมาอุ้มเขา ไปที่ต่างๆ เหมือนแต่ก่อน ซึ่งหมายความว่า เขามีความพร้อม ที่จะก้าวไปสู่โลกกว้างด้วยตัวเองแล้ว การสำรวจและค้นพบ 
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
           ลูกจะเริ่มสำรวจสิ่งต่างๆ ที่เดิมอยู่ไกลเกินเอื้อมของเขา แต่ตอนนี้เขาสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ เช่น อาจจะเดินมาดูลูกสุนัข และจะเอามือแตะมัน แต่พอมันเห่า หรือทำท่าจะกระโจนเข้าใส่ ก็จะกลัวถอยหนี หรือร้องไห้ให้คนมาอุ้ม ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้ของลูกอย่างหนึ่ง หยิบจับคว้าของ นอกจากลูกจะสามารถใช้เท้าเดินได้ดีขึ้นแล้ว เขาก็ยังใช้มือทำอะไรๆได้มากขึ้นด้วย
             ลูกจะเริ่มหยิบของ เอามาหย่อนใส่ลงกล่องได้ บางคนอาจจะเริ่มลากเส้นดินสอสีในมือ แต่ก็เป็นเพียงการขีดเขียนทั่วไป ไม่เป็นรูปร่างอะไรนัก แม้ว่าเด็กบางคนอาจจะจับช้อนทานข้าวได้ แต่ก็ยังไม่สามารถทำท่าป้อนอาหารให้ตนเองได้ เริ่มโตช้าลง และทานอาหารน้อยลง คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะหงุดหงิดที่พบว่า ลูกในวัยนี้ มีพฤติกรรมการทานอาหารเปลี่ยนไปจากเดิม ที่เคยทานอย่างว่าง่าย ป้อนเท่าไรก็เอาหมด กลายเป็นทานยากขึ้น และดู “อิ่ม” เร็ว เอามือปัด หรือปิดปาก แม้เพียงเพิ่งเริ่มป้อนได้ไม่กี่คำ


               ในช่วงต้นอายุ 1 ขวบนี้ โดยทั่วไป เด็กจะมีน้ำหนักตัวเป็น 3 เท่า ของน้ำหนักแรกเกิด และสูง (ยาว) ขึ้นจากตอนแรกเกิด ประมาณ 25 ซ.ม. ขณะที่จาก 1 ขวบ ถึง 2 ขวบ น้ำหนักจะขึ้นช้าลง เพราะเด็กจะเริ่มมีไขมันสะสมน้อยลง และกล้ามเนื้อจะแน่นขึ้น และเป็นธรรมดา ที่เด็กจะมีพฤติกรรมการทานอาหาร ที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เป็นช่วงๆ บางช่วงอาจทานข้าวได้ดี แต่ทานนมน้อยลง บางช่วงจะดูเหมือนเบื่อข้าว เอาแต่นม ซึ่งถ้าเด็กยังทานอะไรบ้างในแต่ละวัน และไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยอะไร ก็ขอให้คุณพ่อคุณแม่ทำใจให้สบาย และคอยดูอยู่ห่างๆ เพราะเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง ก็จะทานอาหารเอง ตามที่เขาอยากจะทาน (แต่อาจจะไม่ได้ตามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ) ขออย่าได้พยายามยัดเยียด หรือจับกรอก จนเด็กกลัวและเกิดการต่อต้านในที่สุด

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
           การติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ เด็กเริ่มจะมีคำพูดเป็นคำๆ ที่มีความหมาย เช่น มามา (แม่) หรือ ยายา ( ยาย หรือย่า) ฯลฯ ได้ และแม้ว่าลูกจะยังพูดได้ไม่กี่คำ แต่ก็จะมีวิธีการ ที่จะบอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่า เขาต้องการอะไร เช่น ชี้นิ้วให้วางเขาลงที่พื้น เมื่อต้องการลงพื้น หรือดึงมือ ดึงเสื้อคุณเมื่อเขาต้องการให้คุณสนใจเขา และเขาดูจะฟังคุณพูดรู้เรื่องได้ดีพอควร เวลาคุณเล่นกับเขา หรือบอกให้เขาทำอะไร เมื่อใช้คำพูดง่ายๆกับเขา “ ไหน…ขอลองดูซิว่าจะเกิดอะไรขึ้น…ถ้า….”
ลูกดูจะเป็นนักทดลองตัวน้อย เขากำลังเรียนรู้ ดูปฏิกิริยาโต้ตอบของสิ่งของ หรือคนรอบข้าง ดูว่าจะเป็นอย่างไร….ถ้า….เช่น ลองเอาถ้วยปล่อยลงพื้น, หรือลองเอามือละเลงอาหารที่อยู่ในจานตรงหน้า…ลูกจะคอยสังเกตดูว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเขาทำอย่างนั้น และเนื่องจากความจำของลูกนั้นยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ ลูกจึงชอบที่จะทำสิ่งนั้นๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ลูกดูจะเป็นนักทดลองตัวน้อย เขากำลังเรียนรู้ ดูปฏิกิริยาโต้ตอบของสิ่งของ หรือคนรอบข้าง ดูว่าจะเป็นอย่างไร….ถ้า….เช่น ลองเอาถ้วยปล่อยลงพื้น, หรือลองเอามือละเลงอาหารที่อยู่ในจานตรงหน้า…ลูกจะคอยสังเกตดูว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเขาทำอย่างนั้น และเนื่องจากความจำของลูกนั้นยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ ลูกจึงชอบที่จะทำสิ่งนั้นๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก
วัคซีนป้องกันโรค วัย 1 ขวบนี้ จะมีวัคซีนที่สำคัญอีกหลายอย่าง ที่จะต้องให้ในช่วงนี้ ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น ซึ่งต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1- 2 อาทิตย์ และมีวัคซีนพิเศษ ที่ให้เลือกทำได้ ได้แก่วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส (ตั้งแต่อายุ 1 ปี ขึ้นไป) สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการป้องกันลูกจากโรคอีสุอีใส และที่ช่วงอายุ 12 - 15 เดือน จะมีวัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม อีก จึงควรปรึกษาแพทย์ ที่ดูแลลูกเรื่องวัคซีนเหล่านี้ ตามเกณฑ์อายุของเขา (ดูในบทวัคซีนป้องกันโรค)
----------------------------------------------------------------------------------------------------------ขอบคุณผู้เขียนพญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์

อ่านต่อ »

พัฒนาการปกติ เดือนที่ 12

พัฒนาการปกติ เดือนที่ 12 “ หนูเดินได้แล้ว”

ลูกจะเริ่มมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง และรู้ว่า ตนเองก็เป็นคนหนึ่งคน ที่แยกจากแม่ได้ (sense of self) เขารู้สึกถึงการเป็นตัวตนของเขา และจะมีวิธีที่จะบอกคุณได้ว่า อะไรชอบ อะไรไม่ชอบ และ เขาต้องการอะไรจากคุณ


     ลูกจะเริ่มพูดคำเดี่ยวๆ ที่มีความหมายได้ อย่างน้อย 2-3 คำ และจะชอบทำเสียงโทนสูงต่ำเหมือนกำลังคุย ด้วยภาษาของเขาเอง ซึ่งผู้ใหญ่จะฟังไม่รู้เรื่อง

     ประมาณ 3 ใน 5 รายของเด็กที่อายุ 1 ปี จะเริ่มเดินได้เอง ในวันครบรอบวันเกิดของเขา แต่ก็ยังต้องการการฝึกฝนอีกสักพัก ก่อนที่จะเดินได้คล่อง บางครั้งเด็กจะล้ม ซึ่งมักจะมีการร้องไห้ตามมาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใช่จากเจ็บตัว แต่จะเป็นจากตกใจ หรือหงุดหงิดที่ตนเองยังไม่สามารถเดินไปถึงที่ที่เขาต้องการ และหลายต่อหลายครั้งเด็กที่เริ่มเดินได้แล้ว จะกลับมาใช้วิธีคลานอีก เนื่องจากยังถนัด ที่จะพาตนเองไปไหนตามใจ โดยการคลาน และเขายังพบว่าเขาคลานได้เร็วกว่าเดินในช่วงแรกๆ


     น้ำหนักของลูก ดูจะไม่ค่อยขึ้นมากนักเหมือนเมื่อก่อน เป็นเพราะลูกจะมีกิจกรรม ให้ทำหลายอย่าง ซึ่งจะใช้พลังงานที่ได้ไปในการนี้พอสมควร ไม่เหมือนตอนเล็กๆ ที่จะกินกับนอนเป็นส่วนใหญ่ และพฤติกรรมการทานอาหารก็จะยังไม่แน่นอน บางครั้งจะชอบทานอย่างหนึ่ง ไปหลายมื้อติดๆ กัน แต่อีกวันอาจจะไม่เอาอาหารอย่างเดิมเลย หรือมีสิ่งที่น่าสนใจ ดึงให้เขาไม่อยากนอน ในตอนนั้น ซึ่งคุณควรจะทำตัวสบายๆ อย่าเข้มงวดว่าเขาจะต้องเข้านอนตรงตามเวลา ที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ควรอะลุ่มอะหล่วยบ้าง


      วัยนี้เด็กบางคนจะเริ่มมีการอาละวาด ลงไปดิ้นกับพื้น เมื่อถูกขัดใจบ้าง (Temper tantrums) ซึ่งอาจทำให้คุณตกใจ และถ้ายิ่งคุณหงุดหงิด อารมณ์เสียใส่เขา ก็จะยิ่งมีการอาละวาดมากขึ้นไปอีก ลูกต้องการคุณช่วยในการสอนให้เขารู้จักการควบคุมอารมณ์ของเขา เมื่อเขาโกรธหรือโมโห ดังนั้นคุณควรจะคุมตัวคุณเองให้ได้ก่อน และพูดหรือโต้ตอบกับเขา ด้วยท่าทีที่สงบเย็น ก็จะช่วยให้ลูกเริ่มเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ของเขาเองได้ต่อไปในอนาคต


     ลูกอาจจะดูเป็นเด็กอารมณ์ดีน่ารัก ในช่วงขณะหนึ่ง แต่อีกแป็บเดียว อาจจะงอแงร้องไห้ได้ หรืออาจจะกลายเป็นเด็กที่ดื้อที่สุด ในอีกไม่กี่นาทีต่อมา แต่เขาก็ยังต้องการคนอยู่ใกล้ที่คอยดูแลเขา


     ในการเล่นกับเด็กคนอื่นๆ จะยังเป็นแบบต่างคนต่างเล่น จะไม่เล่นด้วยกันแบบเด็กโต แต่ก็จะอยากให้มีเด็กคนอื่นอยู่ใกล้ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะถ้ามีเด็กที่โตกว่า มาเล่นกับเขา จะรู้สึกสนุกมาก


     คุณควรเริ่มการฝึกอบรมสอนลูกให้รู้ว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ อะไรถูกอะไรผิด (ไม่ใช่จับมานั่งฟังเทศน์) ที่เรียกว่า Discipline ซึ่งมีความหมายลึกซึ้ง โดยอาศัยความรักความเข้าใจที่คุณมีต่อลูก


     หลักการก็คือ ความสม่ำเสมอ (consistency) ไม่ใช่ว่า ในกรณีเดียวกันเดี๋ยวได้ เดี๋ยวไม่ได้ คุณควรจะมีเกณฑ์อยู่ในใจ ที่ไปในแนวเดียวกัน ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ (รวมทั้งผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่ดูแลเด็กด้วย) เพื่อให้ลูกค่อยๆ เรียนรู้กฎเกณฑ์ และกติกาของการอยู่ร่วมกัน และการปฏิบัติตน พยายามใช้วิธีละมุนละม่อมและชัดเจนกับลูก จะช่วยให้เขาเข้าใจได้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกว่าไม่ แต่อีกคนรีบเข้ามาโอ๋ และให้เด็กได้ของนั้นๆ หรือเชียร์ให้เด็กทำตรงข้าม กับที่ห้ามไว้ทันที


     ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ ควรจะหาเวลาพูดคุยกันเอง ถึงเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เพื่อที่จะได้ “ส่งและรับ เรื่อง” กันทัน เมื่อลูกเกิดอาการงอแงขึ้น ควรใช้วิธีกระตุ้นในเชิงบวก (positive re-enforcement) โดยการสนับสนุนพฤติกรรมที่ดี ให้คงอยู่ และแสดงให้ลูกทราบว่า คุณไม่ชอบ ถ้าเขาแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ออกมา


     ควรเก็บการลงโทษ หรือการใช้การกระทำอันเด็ดขาด ในการจัดการกับเขา ไว้เฉพาะในกรณีที่พฤติกรรมที่เขากำลังทำอยู่นั้น เป็นสิ่งที่อาจเกิดอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้ และใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น


     เด็กบางคนจะเริ่มติดตุ๊กตานุ่มๆ, ผ้าห่ม, หมอน เพราะเขาจะใช้แทนการมีตัวคุณแม่อยู่ใกล้ตลอดเวลา เนื่องจากเขาโตขึ้นก็จริง แต่ก็ยังจะมี ความรู้สึกไม่อยากแยกจากคุณแม่ (separation anxiety) ซึ่งถึงแม้จะไม่มากเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังมีอยู่บ้าง และเช่นกัน ใน การกลัวคนแปลกหน้า (stranger anxiety) ก็จะยังคงมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องออกไปข้างนอกบ้านกับคุณ จึงควรระวังที่จะไม่ปล่อยเขาไว้โดยลำพัง กับคนที่เขาไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่ใหม่ ที่เขาไม่รู้จักคุ้นเคย


     อีกไม่นานลูกของคุณก็จะมีอายุครบ 1 ขวบเต็ม จากตอนแรกเกิด ที่เขาไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย มาถึงตอนนี้ ที่เขาพอจะทำอะไรได้เองมากขึ้น เขาเริ่มรู้จักการเป็นตัวของตัวเอง การช่วยตนเอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งอีกไม่นานเขาก็จะเป็นคนๆ หนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเขา และไม่มีใครเหมือน และไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร เขาก็คือ ดวงใจของเรานั่นเอง


     สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะทำได้ต่อไปก็คือ การช่วยกันอบรมเลี้ยงดูเขา ให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีความสุข ประสบความสำเร็จ และเป็นคนดีของสังคม ได้ดังที่เราตั้งใจไว้

ขอบคุณผู้เขียน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์

อ่านต่อ »

พัฒนาการ ปกติเด็ก 11 เดือน

     

        ขณะนี้ลูกจะเริ่มเกาะยืน และไต่เดินตามขอบโซฟา ได้เองอย่างคล่องแคล่วขึ้น และในบางครั้ง เขาจะปล่อยมือ และเดินเองได้ 2-3 ก้าว แต่อาจจะไม่มั่นใจก้าวต่อไปจึงหยุด เด็กจะชอบการปีนบันไดมาก เขาจะพยายามปีนขึ้นบันได ไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่า จะถอยลงบันไดอย่างไร (ใช้เวลาอีกเกือบ 1-2 เดือน ที่จะรู้วิธีนำตัวเองลงบันไดมาได้เอง อย่างปลอดภัย) คุณต้องดูแลใกล้ชิด อย่าปล่อยลูกไว้ใกล้บันไดตามลำพังเป็นอันขาด ระวังตกบันได !!! 

       ช่วงนี้ลูกจะมีโอกาสหกล้ม หรือเดินกระแทกอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรุนแรงนัก เด็กบางคนจะอดทน ไม่ร้องไห้ง่ายๆ และคุณควรให้โอกาสเขาได้ลุกขึ้นเอง และตอบสนองกับเขาในเชิงบวก เช่น “ลูกดูซิ ชนถูกตรงนี้อีกแล้ว คราวหน้าระวังนะ” หรือ “ ไม่เป็นไรลูก ลุกขึ้นมา “ จะดีกว่า “โอ๋ โอ๋ เจ็บมากไหมลูก ใครมาแกล้งทำให้ลูกเจ็บ เดี๋ยวจะไปตีให้ร้องเลย” เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่า อุบัติเหตุที่ทำให้เขาเจ็บตัวนั้น เกิดขึ้นเพราะเขาไม่ทันระวัง คราวหน้าถ้าเขาระวังก็จะไม่เจ็บตัวอีกจะดีกว่า การสอนให้เขาเข้าใจว่าการที่เขาเจ็บตัวนั้น เป็นเพราะมีคนแกล้ง และจะต้องทำร้ายกลับ เพื่อแก้แค้นที่มาทำให้ลูกเจ็บ

          คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะตื่นเต้นที่ลูกเริ่มหัดเดิน จึงจะคอยกังวลว่า ลูกเดินเป๋ เดินเท้าปัดๆ (toddler gaits) ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินของเด็กเล็กที่ยังไม่คล่องนักเท่านั้น โดยจะเห็นว่า ลูกจะเดินขากางๆ และปลายเท้าแบะออกบ้าง (เพื่อการทรงตัว) ทำให้หลายคน ไปวิ่งหาซื้อหรือ ตัดรองเท้าดัดขา (orthopedic shoes) ใส่กัน ซึ่งส่วนใหญ่ จะไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องใช้รองเท้าพิเศษนี้ เพราะเมื่อลูกเดินได้คล่องขึ้น ท่าทางเดินขากางๆ หรือเท้าแบะเล็กน้อยนี้ก็จะหายเองเป็นปกติเมื่อโตขึ้น และที่จริงแล้ว เมื่ออยู่ในบ้าน (ในห้อง)ที่พื้นสะอาดดี เด็กควรจะเดินเท้าเปล่า เพื่อที่จะได้หัดการทรงตัว และฝึกกล้ามเนื้อของขา และเท้าได้ดีขึ้น ให้ระวังพื้น ที่จะลื่นมากๆ เช่น พื้นหินอ่อน พื้นไม้ปาเก้ขัดมัน หรือพื้นที่เปียกลื่น ที่จะทำให้เด็กหกล้มศีรษะกระแทก เป็นอันตรายได้ 

          การใช้งานของมือ,นิ้ว และการประสานงานระหว่างมือและสายตา (Hand-eye coordination) ซึ่งเป็นการสั่งงานของสมอง ที่ซับซ้อนขึ้น (Higher brain functions) ทำให้มีการใช้กล้ามเนื้อทั้งมัดใหญ่ และมัดเล็ก จะดีขึ้น และนุ่มนวลขึ้น เด็กยังสนใจ ที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับรูปทรงและผิวสัมผัสของสิ่งของต่างๆ ที่เขาสามารถจะคว้ามา “ทำการสำรวจ” ได้ เขาจะเริ่มแยกแยะ ของต่างๆ ได้ดีขึ้น และจะเริ่มมีคอนเซปต์ ที่ว่า ของชิ้นเล็กจะสามารถใส่เข้าไปในของชิ้นใหญ่ได้ ขณะที่ของชิ้นใหญ่ จะไม่สามารถใส่เข้าไปในของชิ้นเล็กได้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะตื่นเต้นที่ลูกชอบ “อ่านหนังสือ (ดูรูป) “ ทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้น ให้เด็กเรียนเร็ว โดยการพยายามใช้ แฟลชการด์ (บัตรตัวอักษร, คำ หรือรูปภาพ) มาสอนเด็กซ้ำๆ เพื่อให้เด็กจำได้ แต่อายุขนาดนี้ นั้นจะยังไม่พร้อม อยากให้คุณแม่เข้าใจให้ถูกต้องว่า “ขบวนการเรียนรู้นั้น เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ” และจะดำเนินไปเอง เมื่อเด็กพร้อม ในช่วงนี้การอ่านหนังสือด้วยกันนั้นจะเป็นในแง่ที่ทำให้เขามีสัมพันธภาพ (bonding) ที่ดีกับคุณ และเป็นการทำให้เขาคุ้นเคยกับหนังสือและการอ่านเท่านั้น

          ในแง่ของสติปัญญา ( intellectual milestone) ลูกจะเริ่มมีคอนเซปต์ ของระยะและขนาดบ้าง (perspective) เขาจะเริ่มรู้ว่า ของอยู่ใกล้หรือไกล และของที่อยู่ใกล้จะดูเหมือนใหญ่กว่าของที่อยู่ไกลออกไป เด็กบางคนจะเริ่มส่งเสียงที่พอฟังออกว่า เป็นคำที่มีความหมายได้บางคำ ซึ่งเดิมเคยเชื่อว่า จะเป็นสัญญานบอกว่า จะเป็นเด็กฉลาด แต่ในปัจจุบันพบว่า การที่เด็กพูดได้เป็นคำบ้าง ในช่วงอายุนี้ไม่ได้บ่งถึงความฉลาดเป็นพิเศษกว่าเด็กอื่น เพราะว่า ในตอนนี้เด็กจะยังเลียนเสียงผู้ใหญ่แบบนกแก้วฝึกพูดมากกว่าจะเข้าใจในความหมายของคำทั้งหมดที่พูดออกมา ลูกจะรู้จักคำต่างๆ ได้มากกว่า 10 คำ และจะทำตามคำบอกง่ายๆ ได้หลายอย่าง ช่วงนี้คุณจะสามารถเริ่มสอดแทรกคำว่า “คะ, ครับ” หรือทำโทนเสียง ที่สุภาพให้เขาเข้าใจได้ ในเวลาพูดกับเขา
         ในช่วงนี้ลูกจะนอนน้อยลงในเวลากลางวัน เด็กบางคนจะนอนตอนสายและตื่นมาทานมื้อกลางวัน ซึ่งทำให้เขาง่วงนอนงอแง เมื่อถึงตอนเย็น คุณจะสามารถเริ่มฝึกให้เขาไม่นอนตอนสาย แต่เลื่อนมาเป็นนอนตอนบ่าย หลังมื้อเที่ยงแทน ซึ่งจะทำให้เขาไม่งอแงนักในตอนเย็น และสามารถเข้านอนตอนหัวค่ำได้ และหลับได้นานตอนกลางคืน

     บทบาทของคุณพ่อและคุณแม่ ที่ช่วยกันในการเลี้ยงดู และเล่นกับเขานั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นการเล่นแบบอย่างคุณแม่ หรือแบบอย่างคุณพ่อก็จะเป็นการส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้มากขึ้น และมีความหลากหลาย ในแนวทางความคิด และการกระทำ ฯลฯ ทำให้เขาพร้อม ที่จะออกสู่โลกภายนอกรอบตัวเขามากขึ้น ช่วงนี้ลูกยังต้องการการโอบกอด, การหอมแก้ม และการอยู่ใกล้คุณ,เล่นกับคุณ ไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้เขาติดคุณและเสียนิสัยหรือจะเป็นการเอาใจจนเคยตัว เด็กเรียนรู้ผ่านทางการเล่น และการทำซ้ำๆ จนเกิดความชำนาญ บนพื้นฐานของความรัก ความเอาใจใส่ ที่คุณพ่อคุณแม่ให้กับเขา
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์

อ่านต่อ »

พัฒนาการ ปกติวัย10 เดือน

พัฒนาการ เด็ก 10 เดือน - ล้อเล่นน่า


      เด็กอายุ 10 เดือนนี้ จะยังคงมีขั้นตอนการพัฒนาการ ในด้านต่างๆ ไม่เท่ากันทีเดียว บางคน อาจจะสามารถเกาะยืน ตั้งไข่ และเริ่มเดินได้ 1-2 ก้าว ขณะที่อีกคน ยังเอาแต่คลาน แต่สามารถทำท่าทาง และส่ง” ภาษา” ได้ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรจะนั่งได้ด้วยตนเองอย่างสบายๆ เด็กบางคน อาจจะชอบที่จะเล่นกับคนรอบข้าง ใครก็ได้ แต่บางคน อาจจะเอาแต่คุณแม่ หรือพี่เลี้ยงเท่านั้น ซึ่งความเหลื่อมล้ำกันบ้างเช่นนี้ ไม่ได้เป็นเหตุให้คุณต้องกังวลใจ เนื่องจากเมื่อถึงเวลาที่ลูกพร้อม เขาก็จะสามารถเปลี่ยน จากการคลานอย่างเดียว มาเป็นเดินได้เร็วไม่แพ้เด็กคนอื่นๆ แม้ว่าเขาจะเริ่มช้ากว่าอีกคนหนึ่ง

     ช่วงนี้เด็กจะชอบนั่งเล่นรื้อของ ใช้มือทั้งสองทำโน่นทำนี่ เมื่อเขาเมื่อย หรือเบื่อก็จะสามารถล้มตัว ลงนอนได้เอง และสามารถลุกขึ้นมานั่งได้เองอย่างรวดเร็ว เมื่อต้องการ เขาจะชอบที่จะปีนป่ายถ้ามีโอกาส ส่วนใหญ่จะเริ่มอยู่ในท่ายืนบ้าง แต่ก็จะยังไม่สามารถทรงตัวได้ดีนัก บางคนจะเกาะเดินไปรอบๆโซฟา ได้ไกลพอควร และส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถเดินได้เอง เด็กจะพยายามฝึกฝนตนเอง ทำให้บางครั้ง คุณจะพบว่า ลูกดูเหมือนตื่นขึ้นมากลางดึก แต่แทนที่จะนอนเล่น กลับพบว่าเขาเกาะยืนขึ้นมาในเตียง และเรียนรู้ว่า การเขย่าขอบเตียงทำให้เกิดเสียง และจะสามารถ เรียกความสนใจจากคุณได้ โดยไม่ต้องร้องไห้ ลูกจะนอนหลับได้ยาวนานขึ้น ในตอนกลางคืน และจะมีเวลานอนกลางวันน้อยลง บางครั้งเมื่อง่วง เด็กจะมีอาการโยเยมากขึ้น ดิ้นไปมานานพอควรกว่าจะหลับได้ คุณควรให้เวลากับเขา ในช่วงที่เขาเริ่มง่วง การกล่อม การโอบกอด จะช่วยเอาเขาหลับได้ง่ายขึ้น

     ลูกจะชอบเล่น” ซ่อนหา” ซึ่งเป็นการต่อเนื่องมาจากการเล่น “จ๊ะเอ๋” โดยคราวนี้ เขาจะชอบเอาผ้ามาปิดหน้าเขา และคอยให้คนอื่นมาเปิด และทำท่าทักทายเขา ถ้าเขาเริ่มเอาผ้ามาปิดหน้าเขา แต่ไม่มีใครมาเปิดผ้าเล่นกับเขา เขาจะส่งเสียงเรียก ให้คุณมาหาเขา เช่นกัน บางครั้งแทนที่จะใช้ผ้าปิดหน้าเขา เขาจะใช้มือสองข้าง ปิดหน้าของเขาแทน ในคอนเซปต์ของเด็กในวัยนี้ก็คือว่า ถ้าเขามองไม่เห็นคุณ ก็เช่นกัน ที่คุณจะมองไม่เห็นเขา
     ลูกจะชอบที่จะอ่านหนังสือ หรือดูรูปภาพ โดยเฉพาะเมื่อคุณอ่านให้เขาฟัง แม้ว่าเขาจะยังไม่เข้าใจ ในทุกคำพูดของคุณ แต่เขาจะเริ่มเข้าใจ ในโทนเสียง และท่าทาง หรือภาพประกอบที่เขาได้เห็น ควรให้โอกาสเขาได้ “อ่าน” แต่ละหน้าหนังสือ ตามที่เขาต้องการ และไม่จำเป็นต้องพยายามอ่านให้จบเล่ม ในเวลาที่กำหนด ลูกจะพูดคำบางคำง่ายๆ ได้ เช่น บ้าย-บาย, บูม (เวลานั่งลงก้นกระแทกพื้น และทำหน้าตลก) และจะเข้าใจคำต่างๆ ที่คุณพูดกับเขาได้มากขึ้นอีก เมื่อคุณถามว่า “ แม่อยู่ไหน ?” เขาจะชี้ได้ , “คนไหนคุณตา ?” เขาก็จะชี้ได้ถูกต้อง


     การระวังเรื่องอุบัติเหตุต่างๆ ก็ยังต้องเข้มงวด ขอให้ผู้ใหญ่ช่วยกันดู ให้บริเวณที่เด็กอยู่นั้นปลอดภัยสำหรับเขา ประตูห้องน้ำควรจะปิด ให้เรียบร้อย เพราะเด็กจะชอบเข้าไปเล่น ในห้องน้ำ ซึ่งอาจจะมีอันตราย จากการจมน้ำ (แม้จะไม่ลึกเลย) หรือเอาน้ำยาล้างห้องน้ำมาเล่น, ของต่างๆที่วางเกะกะ อยู่ในห้องเช่น มีด ขวดยา ฯลฯ เด็กจะเอาไปเล่น ซึ่งอาจมีอันตรายได้

     แม้ว่าลูกอาจจะทำท่าชะงัก หรือหยุด เมื่อได้ยินคุณพูดว่า “อย่า” หรือ “ ไม่เอา” หรือแม้แต่ทำเสียงเลียนคุณว่า “ไม่” และอาจจะส่ายหน้าด้วย (ใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่า เขาจะรู้จัก คำว่า “ใช่” และรู้จักพยักหน้า) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะเข้าใจ และยอมหยุดการกระทำนั้นๆ เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถควบคุมตนเอง (Self-control) ได้ดีนัก และยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนก่อนที่เขาจะเริ่มควบคุมตนเองได้ในระดับหนึ่ง


     ดังนั้นความใจเย็นของคุณและความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกว่า การที่เขาไม่ฟังเรานั้น ไม่ใช่เพราะว่า เขาดื้อจะเอาชนะเรา แต่เป็นเพราะเขายังไม่สามารถควบคุมสิ่งเร้าที่เกิดขึ้น ทำให้เขาอยากทำสิ่งนั้นๆ ที่อยู่ต่อหน้า แม้ว่าคุณจะห้ามเขาแล้วก็ตาม จะช่วยให้คุณช่วยสอนเขา ให้รู้จักการควบคุมตนเองได้ดีขึ้น และมีความปลอดภัย เมื่อลูกอยู่ในเหตุการณ์ หรือภาวะที่อาจเกิดอันตรายได้ คุณจะต้องควบคุมอารมณ์ของคุณ และตัดสินใจทำการห้ามเขาให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำร้ายเขา (ด้วยการตี หรือดุเสียงดังจนลูกกลัว ร้องไห้จ้า) เช่น ลูกเล่นมีด ที่วางอยู่บนโต๊ะ ถ้าปล่อยให้เล่น ก็จะมีอันตรายคุณก็จำเป็นจะต้องจัดการ เอามีดออกจากมือของเขาให้ได้ หรือเด็กจะเล่นเตารีดที่ร้อน คุณก็ต้องมีวิธี ที่จะห้ามเขาให้ได้ และสอนให้เขารู้ว้า อาจจะมีอันตราย ถ้าเขายังขืนทำอีก ฯลฯ เป็นต้น


     ทางที่ดีควรหาทางป้องกัน ไม่ให้ลุกอยุ่ใกล้ของที่เป็นอันตราย หรือเก็บให้พ้นมือเด็กจะดีกว่า ในบางครั้งจะดูเหมือนลูก เป็นคนเอาแต่ใจตัว ถ้าเขาไม่ชอบให้อุ้ม เขาก็จะดิ้น ทำตัวอ่อนลื่นไหล หลุดจากอ้อมกอดของคุณได้โดยง่าย หรือถ้าเขาอยากจะได้อะไร ก็จะพยายามเอาจนได้ ทำให้ดูเหมือนดื้อ และจะร้อง (บางครั้งอาละวาด) ถ้าไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับคุณว่า จะมีการตอบสนองกับเขาอย่างไร ฉะนั้นคุณเองอาจต้องมามองว่า เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการร้องดิ้นมากนั้นเกิดจากอะไร และเราจะหาทางหลีกเลี่ยง หรือป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำบ่อยได้ไหม ถ้าพบว่า เป็นเพียงเพราะเขาหิว หรือกำลังง่วง เมื่อให้นม และให้เขานอนก็จะดีขึ้น

ขอบคุณผู้เขียน

พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์

อ่านต่อ »

พัฒนาการปกติ เดือนที่ 9

พัฒนาการปกติ เดือนที่ 9 “เตรียมความพร้อม


     ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ลูกได้สะสมทักษะ เตรียมความพร้อมในการใช้มือ การใช้สายตา และการเข้าสังคม และตื่นเต้นกับสิ่งที่ดูเหมือนง่ายๆ สำหรับผู้ใหญ่ แต่เป็นก้าวที่สำคัญ สำหรับการพัฒนาการของเขาต่อไป ในเดือนนี้เขาจะใช้เวลา ในการฝึกฝนขั้นตอนการพัฒนาการต่างๆเหล่านี้ ให้ดียิ่งขึ้น และยังกระหายที่จะเรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา


      ลูกจะลุกขึ้นมานั่งเองได้ จากท่านอนบนพื้น และจะสามารถช่วยตนเองให้ขึ้นมา อยู่ในท่ายืนได้ (เกาะยืน) โดยอาจจะต้องอาศัยโซฟา เป็นที่เกาะ และเด็กบางคนจะเริ่ม”ตั้งไข่” ทำท่าเหมือนจะเดินได้ หนึ่งหรือสองก้าว แต่ก็ยังไม่กล้าเดินต่อ หรืออาจจะลงนั่งอีก ลูกจะคลานได้เก่ง และจะมีโอกาส เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น จะชอบขึ้นกระได แต่อาจจะพลัดตก หงายลงมาได้ หรือปีนป่ายโต๊ะ ดึงลิ้นชัก, ผ้าปูโต๊ะ จนหลุดออกมา หล่นใส่ตัวหรือเท้าได้ จึงควรล็อกลิ้นชัก และไม่ใช้ผ้าปูโต๊ะ ในบริเวณที่เด็กอยู่ประจำ แม้แต่ต้นไม้ที่ปลูกในกระถางในบ้าน ก็อาจถูกลูกเข้าไปรื้อ และโน้มให้หล่นทับตัวลูกได้

     ลูกจะสามารถใช้มือได้ ตามขนาดของสิ่งของ ที่เขากำลังจับเล่นอยู่ และเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ของของต่างๆ เช่น จะสามารถเอาของชิ้นเล็ก ไปใส่ในของชิ้นใหญ่ (เล่นตระกร้าเก็บของ, เอาของชิ้นเล็กใส่ถ้วย ฯลฯ *** ต้องระวังถ้าของชิ้นเล็กมาก ลูกจะเอาใส่ปาก และเกิดอันตรายจากการสำลักได้) และจะสามารถ ต่อบล็อกชิ้นใหญ่ วางซ้อนกันได้ 2 ชั้น หรือเอาฝามาปิดปากถ้วยได้

     ลูกสามารถเข้าใจดีขึ้น ถึงคอนเซปต์ของคน และสิ่งของว่า จะยังคงอยู่ แม้ว่าเขาจะมองไม่เห็น จากการเล่นเกมเมื่อเดือนก่อนๆ ที่ช่วยทำให้เขาเรียนรู้ว่า เมื่อคุณออกไปจากห้อง แม้ว่าเขาจะไม่เห็นคุณ แต่ก็รู้ว่าอีกสักครู่ คุณก็จะกลับมาอยู่กับเขาแน่

     คุณพ่อคุณแม่หลายคน จะพยายามซื้อของเล่นที่พิเศษๆ ให้ลูก และพยายามสอนให้ลูก ได้เล่นอย่างถูกต้อง ตามชนิดของๆ เล่น แต่การพยายามด้วยความหวังดีของคุณนี้ อาจจะไปขัดขวาง การเรียนรู้ของเด็กในการหัดสังเกต และการฝึกฝนในการใช้มือ และสายตา ทางที่ดีแล้วควรให้โอกาสลูก ได้ลองเล่นอยากที่เขาอยากจะเล่นเอง แล้วเขาจะค่อยๆ เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ได้เองทีหลัง โดยคุณไม่ต้องกังวล คอยแก้ให้เขาเล่น ให้ถูกต้องอย่างผู้ใหญ่ และแม้ว่า ลูกดูเหมือนจะเล่นเอง หรืออยู่คนเดียวได้ แต่เขาก็ยังจะมองหา หรือต้องการให้แน่ใจว่า มีคุณอยู่ใกล้ๆในห้อง

     อีกขั้นของการพัฒนาการ ที่คุณจะเริ่มฝึกให้ลูก ในอายุนี้ คือ การเลิกนมแม่ หรือนมขวด และเริ่มให้ดื่มจากถ้วยแทน แม้ว่าเขาจะยังไม่ยอมดื่มเองจากถ้วย โดยการเริ่มใช้ ”ถ้วยฝึกดื่ม” เลือกช่วงเวลาที่เขาไม่ค่อยสนใจดูดนมจากขวด เปลี่ยนมาให้เป็น “ถ้วยฝึกดื่ม” แทน โดยในช่วงแรกให้ฝึกดื่มน้ำก่อน และเปลี่ยนเป็นนม ในภายหลัง และอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน ก่อนที่ลูกจะยอมรับการดื่มจากถ้วย

      การพูดของลูกในตอนนี้ จะยังไม่เป็นคำ ที่ฟังมีความหมายนัก แต่เขาก็จะเริ่มมีการออกเสียงที่พอฟังได้ ถ้าเราจะเข้าใจเขา เช่น การเรียก “มะมะ” อาจหมายถึง “หม่ำ” อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาถึงจะสามารถออกเสียง เรียกคำที่มีความหมายที่ถูกต้องได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ลูกจะเข้าใจ”ความหมาย” ในสิ่งที่คุณพูดกับเขา ได้มากขึ้น พยายามพูดกับลูกบ่อยๆ และเรียกคำศัพท์เฉพาะ สำหรับสิ่งของ และกริยาต่างๆ ที่คุณใช้อยู่เป็นประจำ เช่น “พ่อ” “แม่” “ตา” ยาย” “ส่งจูบ” “บ้าย บาย” ซึ่งลูกจะเข้าใจ และสามารถทำตามที่คุณบอกได้

     บางครั้งที่เขาเริ่มซน และถูกคุณดุ จะทำให้เขาตกใจ หรือบางทีแสดงท่าเสียใจ ซึ่งคุณควรระวัง อย่าให้มีการห้าม หรือต้องดุกัน บ่อยๆ เพราะจะทำให้เขาเกิดความกลัว ไม่กล้าที่จะลอง หรือทำอะไรนัก แต่เช่นกัน คุณก็ควรระวังเรื่องอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นจากความไร้เดียงสาของเขา ในการลองทำสิ่งต่างๆ ดังนั้นการดูแลใกล้ชิด และคอยช่วยเหลือเขาบ้าง ในยามที่เขาต้องการ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาส ให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง จะเหมาะสมที่สุด
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์


อ่านต่อ »

DHA และ ARA ในนมผสม ดีจริงหรือไม่??

DHA และ ARA ในนมผสม ดีจริงหรือไม่

สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบกันคือ DHA และARAที่เติมในนมผงนั้นอยู่ในรูปของน้ำมัน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

 
น้ำมันชนิดนี้สกัดออกมาจากสาหร่าย (algae) และเชื้อรา (fungus) ที่เพาะในห้องทดลอง กระบวนการสกัดน้ำมันนี้ใช้สาร hexane ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีพิษ

น้ำมันจากเชื้อราและสาหร่ายให้ DHA และ ARA ที่มีโครงสร้างแตกต่างจาก DHA และ ARA ที่พบตามธรรมชาติในน้ำนมแม่ ให้ชื่อน้ำมันชนิดใหม่ที่ผลิตจากโรงงานว่า DHASCO (DHA single cell oil) และ ARASCO (ARA single cell oil)

 น้ำมันนี้ผลิตโดย Martek Biosciences Corporation และใส่ลงในนมผงเลี้ยงทารกเป็น เครื่องมือทางการตลาดเพื่อให้พ่อแม่มั่นใจว่านมผสมนั้น “ ใกล้เคียงนมแม่มากกว่าแต่ก่อน”
 ยืนยันได้จากแผ่นประชาสัมพันธ์การลงทุนใน Martek เมื่อปี 1996 ดังต่อไปนี้

 “ถึงแม้ว่า (DHA/ ARA ) จะไม่มีประโยชน์ เราคิดว่ามันจะถูกใส่ลงไปในนมผสมอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นเครื่องมือทางการตลาด และทำให้บริษัทสามารถโฆษณานมผสมของเขาได้ ว่า ใกล้เคียงน้ำนมแม่มากที่สุด“

 ตั้งแต่มีการเติมน้ำมันทั้งสองชนิดนี้ (DHASCO ,ARASCO)ลงในนมผสม คุณแม่มือใหม่จำนวนมากมีแนวโน้มจะเชื่อว่า “ นมผสมก็ดีเท่าๆกับนมแม่” องค์กรต่างๆที่ทำงานเพื่อสนับสนุนนมแม่ทำงานด้วยความยากลำบากขึ้น เพราะโฆษณาจะอ้างว่านมผสมมีคุณสมบัติใกล้เคียงนมแม่มากขึ้น


ในอเมริกามีการสำรวจโดย Department of Health and Human Services พบว่า การโฆษณา DHA/ ARA ทำให้แรงสนับสนุนนมแม่อ่อนลงไป กล่าวคือ ในปี 2003 12% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า “ นมผสมและนมแม่เป็นวิธีเลี้ยงทารกที่ดีเท่าๆกัน” แต่เมื่อถามคำถามเดียวกันในปี 2004 หลังจากมีการโหมโฆษณานมผสมที่เติม DHA /ARA พบว่ามีผู้เห็นด้วยเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวเป็น 24%

เป็นที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่า การให้นมแม่มีผลดีกว่านมผสมมากมาย ดังนั้นโฆษณาหรือฉลากข้างกระป๋องนมผสมที่อ้างความใกล้เคียงนมแม่ ทำให้เด็กๆได้รับนมแม่น้อยลง จึงมีผลต่อสุขภาพของเด็กๆและสาธารณสุข

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา  http://cornucopia.org/DHA/DHA-Update-2010.pdf

อ่านต่อ »

พัฒนาการเด็กปกติ เดือนที่ 8

พัฒนาการปกติ เดือนที่ 8 “ขอไปเที่ยวด้วย”                                 


          ลูกจะเริ่มมีความสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น                                                            เพราะเขาเริ่มเรียนรู้ ถึงความตื่นเต้นที่ได้ลองสิ่งใหม่ๆ เขาเริ่มทำอะไรเองได้มากขึ้น และจะชอบ เมื่อมีคนเล่นด้วยเด็กจะยังไม่ทราบถึงอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น จากการกระทำของเขา เช่น การคว้าถ้วยกาแฟร้อน หรือ การจับมีดปอกผลไม้ ที่วางอยู่บนโต๊ะ ช่วงนี้คุณจึงต้องระวังเป็นพิเศษ และพยายามตรวจเช็คดูสภาพห้องและบริเวณที่เล่นของลูก ว่าเป็นที่ที่ปลอดภัย


                  ลูกจะคลานได้คล่อง และเริ่มพาตัวเองไปยังที่ ที่ต้องการจะไปได้โดยเร็ว             
  ควรต้องระวังเรื่องประตู เพราะจะเป็นที่ที่เด็กชอบมาก เนื่องจากเห็นการเคลื่อนไหวนอกห้อง ที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขา จึงเกิดอุบัติเหตุ ประตูเปิดกระแทกเด็ก หรือประตูหนีบนิ้วมือได้บ่อยๆ หรือไม่ก็อาจจะออกมานอกห้อง และคลานตกบันไดได้ลูกจะชอบเอานิ้วเล็กๆ แหย่ตามร่อง รู ที่เห็นตามพื้น หรือกำแพง หรือแม้แต่ ปลั๊กไฟ เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ลูกจะนั่ง และคลานไปมา ได้นานขึ้น เพราะกล้ามเนื้อแขนขา และหลัง แข็งแรงขึ้น และเริ่มเกาะยืน (ชอบให้คุณอุ้มเขายืนบนตัก หรือโต๊ะ) คุณควรให้โอกาสเขาได้นั่ง และคลานเล่น บนพื้น จะดีกว่าการอุ้มตลอดเวลา หรือจับใส่ไว้ในเก้าอี้หัดเดิน (walker) เพราะเก้าอี้หัดเดิน ไม่ได้ให้เด็กได้มีโอกาสฝึกฝนการทรงตัว (balancing ) อย่างธรรมชาติ

                 เด็กจะเรียนรู้ จากการได้ลองทำการยืนด้วยตนเอง และเขาจะต้อง ลองแล้วลองอีก (trail and error) อีกหลายครั้ง กว่าจะรู้วิธีการ ที่จะขึ้นมาจากท่านั่ง เป็นเกาะยืน และเริ่มตั้งไข่ ซึ่งจะเป็นการเตรียมพร้อม ในการเดินในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เด็กจะเรียนรู้ว่า พื้นหรือเครื่องเรือนแบบไหน ที่จะรองรับน้ำหนักเขาได้ (ช่วงนี้จะพบว่าเด็กมีโอกาสตกโต๊ะ หรือเก้าอี้ได้บ่อยๆ จากการพยายามปีนของเขานั่นเอง) คุณสามารถช่วยลูกหัดหย่อนก้นลงนั่ง จากท่ายืนโดยการก้มตัวลง (งอส่วนลำตัวด้านบนกับสะโพก) โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย และวางน้ำหนัก ไปทางก้น เพื่อที่จะได้นั่งลงได้ โดยไม่หงายหลัง หรือเจ็บตัว

                  ควรให้ลูกได้มีโอกาสฝึกฝนเองให้มาก เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ และมีความมั่นใจ                   ในการก้าวต่อไป จะดีกว่าการปกป้องคอยอุ้มเขา กลัวเขาล้ม เพราะอาจทำให้เด็กไม่กล้า ที่จะลองทำการลุกนั่งเองให้ได้ลูกจะชอบรื้อของ โดยเฉพาะของที่อยู่ในตู้ อาจเป็นตู้เสื้อผ้า หรือตู้ในห้องครัว และตู้ในห้องน้ำ ที่ใช้เก็บสารเคมีต่างๆ เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ, น้ำยาล้างจาน,น้ำหอม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีอันตรายมาก ถ้าเด็กทานเข้าไป หรือหกราดเข้าตา คุณจึงควรจะเก็บของเหล่านี้ ให้มิดชิด และใช้กุญแจล็อก ให้แข็งแรง ป้องกันไม่ให้ลูกเปิดได้ ในบางบ้านที่ระมัดระวังมาก จะไม่ใช้พวกน้ำยาล้างห้องน้ำที่แรงเลย เพราะแม้แต่สารตกค้าง ที่อยู่บนพื้นห้องน้ำ ฯลฯ ก็อาจทำอันตรายแก่ลูกได้ แม้แต่ถังขยะเล็กๆ ในห้องของคุณ ก็อาจเหมือนขุมทรัพย์ ที่น่าตื่นเต้นของเด็ก ที่จะเข้ามารื้อค้น ซึ่งถ้ามีสารพิษ หรือ เศษของมีคม ฯลฯ อยู่ ก็จะมีอันตรายได้ จึงควรมีการนำสิ่งเหล่านี้ ไปทิ้งในที่ที่พ้นมือเด็ก ข้างนอกบ้าน จะปลอดภัยกว่า

             ตาของลูกจะสามารถมองเห็น ในรายละเอียดต่างๆ ได้ดีขึ้น และจะเป็นคนช่างสังเกต        เขาจะสามารถ เอานิ้วชี้ไปยังสิ่งที่ต้องการ เพื่อบอกเราได้ และจะคอยสังเกตเห็นสิ่งของใหม่ๆ ที่อยู่ในห้อง (หรือในบ้าน) ได้เสมอ

       เรื่องการทานอาหาร ก็จะยังไม่ค่อยแน่นอน บางวันบางมื้อ อาจจะทานได้ดี บางมื้ออาจจะไม่ค่อยยอมทานเลย แล้วแต่ว่า อารมณ์และความสนใจของเขา จะอยู่ที่ไหน จึงควรปล่อยตามสบาย ไม่พยายามยัดเยียดให้ลูกต้องทานให้หมด ตามที่คุณแม่ต้องการ แต่ควรเป็นไป ตามที่เด็กต้องการ เพราะจะเกิดการต่อต้านขึ้นได้ง่ายและในที่สุด จะกลายเป็นเด็กทานยากขึ้น

       เรื่องการนอน ก็อาจจะยังไม่ค่อยลงตัว แต่ก็ยังต้องการ การนอนกลางวันอยู่ บางครั้งลูกอาจจะไม่ยอมนอน และพยายามเล่น จนเหนื่อย หรือเพลีย แล้วหลับไปได้นานกว่าธรรมดา ซึ่งเด็กบางคนในช่วงที่เริ่มเหนื่อย หรือง่วง จะค่อนข้างหงุดหงิด และจะต้องการให้คุณอุ้ม หรือกล่อมเขาจนได้ที่ ก่อนที่จะยอมหลับไปการพัฒนาด้านภาษา ก็ได้มีการวางรากฐานไว้ ตั้งแต่ช่วงลูกยังเล็กๆ นานก่อนที่ลูกจะพูดได้คำแรก คุณควรพยายามพูดคุยกับลูกเสมอๆ โดยการทำสีหน้า และโทนเสียงสูงเสียงต่ำต่างกันไป ในช่วงนี้ลูกจะสามารถแสดงสีหน้า และแววตา ว่าเขากำลังฟังคุณอยู่ บางครั้งเขาจะพยายามทำเสียงเลียนเสียงของคุณ เพื่อเป็นการโต้ตอบกัน

        คุณพ่อคุณแม่หลายคนในช่วงตอนนี้ อาจจะผ่อนภาระการเลี้ยงดูลูก ให้แก่พี่เลี้ยง หรือคุณตาคุณยายมากขึ้น เนื่องจากต้องไปทำงาน หรือมีเวลาน้อย แต่ก็ยังอยากให้คุณ จัดเวลาให้แก่ลูก เพื่อจะได้เล่น และดูเขาเติบโต อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากความใกล้ชิดที่คุณจะมีกับลูกนั้น ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับตัวเขา และการเป็น “พ่อแม่” ของคุณในแต่ละช่วงของชีวิตลูก ก็จะผ่านเลยไป ไม่สามารถหวนคืนมาได้อีก จะมีก็แต่ความประทับใจ และความทรงจำในความรู้สึกต่างๆ ที่คุณมีให้แก่ลูก ที่จะยังคงอยู่ ซึ่งทางฝรั่งจะมีการพูดว่า “ Your child can be a child only once” ฉะนั้นขอให้คุณแบ่งเวลาของคุณ ให้เหมาะสมด้วย

อ่านต่อ »