เมื่อลูกท้องเสีย

เมื่อลูกท้องเสีย


      คุณพ่อคุณแม่หลายคนที่กำลังมีลูกเล็กอยู่มักจะประสบปัญหาว่าลูกมีท้องเสียขึ้นได้ ทั้งๆที่ได้ดูแลเรื่องความสะอาดอย่างเข้มงวดแล้วก็ตาม จึงเป็นปัญหาที่ต้องพาลูกไปพบแพทย์และในบางรายที่มีอาการรุนแรงก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวใน ร.พ.


         สาเหตุของการเกิดท้องเสียนั้นมีได้หลายประการ และในบางครั้งก็อาจมีหลายสาเหตุร่วมกัน ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็นสาเหตุจากการติดเชื้อเช่นเชื้อไทฟอยด์เชื้อบิดไม่มีตัว เชื้ออหิวาต์ หรือเชื้อโรต้าไวรัส เชื้อรา ฯลฯ และสาเหตุจากการที่ระบบการย่อยการดูดซึมของลำไส้ทำงานผิดปกติไป เช่น การที่มีระดับน้ำย่อยและเอนไซม์บางอย่างที่จำเป็นต่อการย่อยอาหารลดน้อยลงอันเป็นผลจากการอักเสบของลำไส้

        คุณแม่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าจะดูรู้ได้อย่างไรว่าอุจจาระของลูกที่ออกมานั้นเป็นปกติหรือมีปัญหาท้องเสียเกิดขึ้นแล้ว โดยทั่วไปการนับแค่จำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระในแต่ละวันนั้น แม้ว่าจะมีหลายครั้งในหนึ่งวัน ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกมีปัญหาท้องเสีย แต่จะดูที่ลักษณะของอุจจาระว่าเป็นน้ำ หรือเป็นมูก (บางครั้งมีมูกปนเลือด) หรือเหลวเละๆ ผิดปกติ บางครั้งจะพบว่ามีกลิ่นแรง เหม็นเปรี้ยว ฯลฯ แม้เพียงครั้งเดียวก็จะถือว่ามีท้องเสียได้


ข้อควรระวัง


สิ่งสำคัญในการดูแลลูกเมื่อมีท้องเสียคือการระวังอย่าให้เกิดผลแทรกซ้อนที่จะเป็นอันตรายกับลูก ซึ่งได้แก่
       1. ภาวะขาดสารน้ำและเกลือโซเดียม, โปตัสเซียมในร่างกาย เนื่องจากอุจจาระที่ออกมานั้นจะไม่ใช่มีแต่น้ำเปล่า แต่จะเป็นสารน้ำที่มีปริมาณน้ำและเกลือโซเดียมและโปตัสเซียมอยู่ด้วยในปริมาณหนึ่ง ดังนั้นในรายที่มีท้องเสียอย่างมาก (อาจร่วมกับการที่มีอาเจียนมากด้วย) จะทำให้เกิดการสูญเสียปริมาณน้ำในร่างกายและในกระแสเลือด ทำให้มีอันตรายจนถึงช็อคได้ เช่นทำให้เกิดชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ และมีปัสสาวะน้อย ซึ่งถ้ายังไม่ได้รับการรักษาให้สารน้ำที่มีเกลือโซเดียมและโปตัสเซียมชดเชยได้ทัน ก็จะยิ่งทำให้เข้าสู่ระยะช็อคที่มากขึ้น คือเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด (ปกติเลือดจะมีสภาวะเป็นกลาง) ทำให้การไหลเวียนของเลือดแย่ลง จนเสียชีวิตได้

        2. การติดเชื้อ ถ้าเป็นเชื้อที่มีความรุนแรง เช่น อหิวาต์ เชื้อไทฟอยด์ ฯลฯ ก็อาจจะเกิดการติดเชื้อที่ลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ และเกิดภาวะช็อคขึ้นได้เช่นกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดท้องเสียที่รุนแรงได้ในรายที่มีอาการหนัก
การรักษา
      ในรายที่เป็นไม่มากและไม่มีการติดเชื้อรุนแรง ก็อาจจะให้การรักษาโดยการให้ดื่มน้ำเกลือ (โอ อาร์ เอส, หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เกลือซอง ผงเกลือแร่สำหรับท้องเสีย ฯลฯ) ซึ่งเมื่อผสมในน้ำดื่มที่สะอาดในปริมาณตามที่กำหนด ก็จะช่วยชดเชยทั้งสารน้ำและเกลือโซเดียมและโปตัสเซียมที่สูญเสียไปในอุจจาระได้ในขณะเดียวกันควรที่จะงดนมสด หรือเจือจางนมที่ให้กับลูก (เจือจาง โดยใช้เนื้อนมน้อยลงครึ่งหนึ่ง) หรือใช้นมที่เหมาะกับภาวะท้องเสีย เช่น นมถั่วเหลือง หรือนมที่ไม่มีแล็คโตส เพื่อช่วยให้การย่อยและการดูดซึมนมของลำไส้ในสภาวะที่มีการติดเชื้อในลำไส้นั้นดีขึ้น ควรงดการให้น้ำผลไม้ เช่นน้ำส้มสด เนื่องจากอาจทำให้เกิดการถ่ายเหลวได้มากขึ้น

           ส่วนการให้เครื่องดื่มหรืออาหารอื่น เช่น การดื่มน้ำอัดลม (ที่เปิดเขย่าให้แก๊สน้อยลงแล้ว) หรือการทานน้ำข้าว, โจ๊กเปล่า หรือข้าวต้มใส่เกลือ (แต่เพียงพอเค็ม)ก็จะช่วยให้การฟื้นตัวจากภาวะท้องเสียกลับเป็นปกติได้เร็วขึ้น

        ดังนั้นการดูแลเด็กที่มีการติดเชื้อท้องเสียจึงต้องเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ และในรายที่มีท้องเสียหรืออาเจียนมาก ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อการตรวจรักษา เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่มีความชำนาญพอที่จะดูว่าลูกมีภาวะขาดสารน้ำและเกลือในระดับไหน และอาจจะไม่ทราบว่าควรจะให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาท้องเสียด้วยหรือไม่ ที่สำคัญคือในปัจจุบันพบปัญหาเชื้อดื้อยากันมากขึ้น ทำให้ในบางรายควรที่จะให้ลูกเข้ารับการรักษาตัวใน ร.พ. เพื่อจะได้ให้น้ำเกลือทางเส้นหลอดเลือด และให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมได้ทันการ

*****การซื้อยาหยุดถ่ายให้เด็กทานนั้นนอกจากจะไม่เป็นการรักษาที่ถูกต้องแล้วจะยังอาจเป็นอันตรายได้ เพราะไม่ได้เป็นการรักษาที่ตรงสาเหตุ เนื่องจากไม่ได้แก้ไขภาวะขาดน้ำ และไม่ได้ให้ยาขจัดเชื้อ แต่อาจจะดูเหมือนอาการถ่ายท้องทุเลาลงไปชั่วคราว แต่การติดเชื้อยังอยู่และอาจจะลุกลามได้ง่าย ทางการแพทย์จึงไม่แนะนำให้ซื้อยาหยุดถ่ายมารักษาเอง


 การป้องกัน


    การติดเชื้อท้องเสียนี้แม้ว่าเป็นแล้วก็อาจจะเป็นอีกได้  ขึ้นกับการเอาใจใส่เรื่องสุขอนามัยและความสะอาดของแต่ละบ้าน เช่น บ้านที่มีสัตว์เลี้ยง (เช่น สุนัข, แมว, ไก่,นก) ซึ่งมักจะออกไปคุ้ยหาเศษอาหารจากที่ต่างๆและจะมีเชื้อติดตามตัวและปากของมันมา เมื่อมาเล่นกับเราหรือลูก ก็จะทำให้เด็กได้รับเชื้อท้องเสียได้ หรือบ้านที่ไม่ได้มีถังเก็บขยะที่ปิดให้มิดชิด และมีแมลงวันมาก ก็จะเกิดปัญหาท้องเสียได้ง่าย เนื่องจากแมลงวันสามารถนำเชื้อท้องเสียมาไต่ตอม จานหรือจุกนมของลูกได้ หรือบางบ้านไม่ได้เก็บภาชนะที่ล้างแล้วให้มิดชิดในตู้ (หรือใช้ฝาชีปิด) พอตกกลางคืนอาจมีแมลงสาบ, หนู !! ขึ้นมาตามท่อน้ำทิ้ง และไต่ไปตามถ้วยจานชามที่ล้างแล้ว ทำให้เชื้อท้องเสียมาติดอยู่ตามภาชนะ พอถึงเวลาเช้าขึ้นมา เมื่อนำภาชนะเหล่านี้มาใช้ใส่อาหารให้ลูก ก็เกิดติดเชื้อท้องเสียได้

     นอกจากนี้แล้วมาตรการอื่นๆ เช่น การขยันล้างมือ, การไม่ใช้ผ้าเช็ดมือผืนเดียวกันกับผ้าเช็ดโต๊ะ( จนกลายเป็นผ้าเก็บเชื้อโรค), การไม่ปล่อยให้เด็กคลานไปทั่ว (บางรายคลานไปเอารองเท้ามาใส่เข้าปาก!!) ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดการติดเชื้อท้องเสียลงได้ รวมถึงการจัดระเบียบในตู้เย็น และการเก็บของ(อาหารสดและอาหารที่ทานไม่หมด) โดยมีการจัดเก็บแยกจากกัน และมีฝาปิดหรือมีพลาสติกปิดคลุมกันการหกหรือปนเปื้อน และปรับอุณหภูมิของตู้เย็นให้เย็นจัดพอ ก็จะช่วยลดการบูดเสียของอาหาร

      และที่สำคัญที่สุดคือการเลือกทานอาหารและน้ำที่สุกและสะอาดเสมอ ก็จะช่วยทำให้ทุกคนในบ้านปลอดภัยและห่างไกลจากโรคท้องเสียได้

------------------------------------------------------------------------------------------------------
นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม