พัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 7 เดือน (19 เดือน)

การพัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 7 เดือน (19 เดือน) "นักเคลื่อนไหวตัวน้อย"

ลูกจะเริ่มมีคอนเซปต์การคิด หรือการมองสิ่งต่างๆแบบผู้ใหญ่ได้บ้าง เมื่อบางครั้งสิ่งต่างๆไม่เป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็นลูกจะสังเกตได้ เช่น ลูกจะหัวเราะเมื่อเห็นอะไรผิดปกติไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น : คุณแหย่เขาเล่น โดยแกล้งทำของตก แล้วทำท่าตกใจ เด็กจะรู้ว่าคุณแกล้งทำ และหัวเราะชอบใจได้ , หรือแกล้งทำเป็นเรียกชื่อเขาผิดเป็นชื่อของเด็กอีกคนหนึ่ง , หรือเอาของเล่นตุ๊กตา ที่มีตาหายไปข้างหนึ่ง (เหลือตาเดียว) ให้เขาเล่น เขาจะสังเกตรู้ได้ว่ามันผิดปกติไป, หรือจะรู้ว่าที่พรมมีรอยเปื้อนใหม่เกิดขึ้น โดยเขาจะชี้ให้คุณดูได้

     ช่างพูดจำนรรจา

     แม้ว่าคุณอาจจะพยายามฟังลูกพูด และรู้ว่าเขาพูดได้มากมายหลายคำ แต่ส่วนใหญ่เกินครึ่งคำเหล่านั้นก็ยังไม่เป็นภาษาอย่างที่เราพูดกัน แต่ลูกดูเหมือนจะฟังคุณได้เข้าใจมากกว่า เขาจะรู้เรื่องที่คุณพูดกับเขาได้ดีทีเดียว และจะพยายามพูดกับคุณด้วย เขาจะเริ่มเอาคำ 2 คำมารวมกัน เช่น “ไม่-เอา” “ เที่ยว-ไป” ฯลฯ ซึ่งถูกบ้างผิดบ้าง แต่เขาจะค่อยๆ เรียนรู้มากขึ้นเองทีหลังว่าคำไหนถูก


     เจ้านายน้อยและชอบต่อรอง

     ลูกจะดูเหมือนดื้อ ชอบทำอะไรเองตามที่เขาต้องการโดยไม่ค่อยยอมฟังคุณพ่อคุณแม่เท่าไรนัก เพราะวัยนี้เป็นวัยที่เขากำลังเรียนรู้ การเป็นตัวของตัวเอง เพื่อลดปัญหาการขัดแย้งกันกับลูก คุณควรจะปฏิบัติต่อลูก เหมือนกับที่คุณอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับคุณ

    คุณควรเลือกทางสายกลางประนีประนอมจะดีกว่าการออกคำสั่ง เช่น เวลาจะให้ลูกเก็บของเล่น ที่เขารื้อกระจายออกมาเต็มเตียง แทนที่จะสั่งว่า “ เก็บของเล่นให้หมดก่อนไปกินข้าว” ก็อาจจะใช้เป็นว่า “ เรามาช่วยกันเก็บของดีไหม....แม่จะช่วยเก็บบอลให้ ส่วนลูกเก็บตุ๊กตามาไว้ในกล่องนี้นะคะ” ลูกก็จะช่วยคุณทำได้โดยดี หรือแทนที่จะบอกว่า “ห้ามออกไปเล่นข้างนอก เดี๋ยวฝนตก จะเปียกหมด” คุณอาจจะพูดเป็นว่า “ตอนนี้ฝนตก เรามาอ่านหนังสือกันดีกว่า รอฝนหยุดค่อยออกไปเล่นข้างนอกนะคะ”

    การเข้าสังคม

     ในวัยนี้ลูกจะได้เรียนรู้จากการเล่นอย่างอิสระ คุณไม่จำเป็นต้องพยายามสอนให้เขาเล่นอย่างที่คุณคิดว่าจะต้องเป็น แบบที่เด็กโตๆ เขาเล่นกัน จนกว่าอายุประมาณ 3 ขวบที่เด็กจะเริ่มเรียนรู้การเล่นด้วยกัน อย่างที่จะไม่เกิดปัญหา ดังนั้นในวัยนี้แม้ว่าเขาจะมีเพื่อนเล่น แต่ก็จะยังไม่รู้จักการแบ่งปัน หรือผลัดกันเล่น และอาจจะไม่สามารถเล่นด้วยกันได้ เพราะมัวแต่แย่งของเล่นจากกันและกันเอง เนื่องจากเด็กในวัยนี้ยังไม่มี คอนเซปต์ในการแบ่งกันและเล่นด้วยกันนั่นเอง

ขอบคุณผู้เชียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์