พัฒนาการปกติ เดือนที่ 3

พัฒนาการปกติ เดือนที่ 3 “ กำลังน่ารัก”


          ตอนนี้คุณแม่คงพอจะมองออกแล้วว่า ลูกจะมีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร เด็กจะเริ่มแสดง “บุคลิก” ของเขาให้เห็น และการแสดงออก เพื่อตอบสนองต่อสิ่งต่างๆของเขานั้น ก็จะเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นจากเดิม ที่จะเป็นไปตามความต้องการพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น การมีสิ่งเร้ามากระตุ้นเด็กที่เหมาะสม จะช่วยในการพัฒนาของลูก จากเดิมที่เมื่อลูกตื่น จะต้องการให้อุ้มและป้อนนม ก็จะเริ่มเป็นว่าเขาต้องการให้คุณคุยกับเขา เล่นกับเขา และจะเริ่มไม่ยอมเมื่อถูกทิ้งให้เล่นคนเดียว ลูกจะชอบมากที่มีคนมาพูดคุยด้วย ได้เห็นคุณทำท่าสั่นหัว ตบมือ หรือแม้แต่แลบลิ้น ทำหลอกเล่นกับเขาลูกจะเริ่มเล่นเสียงต่างๆมากขึ้น


              การได้ยินเสียงดนตรี หรือเสียงที่น่าสนใจ จะช่วยทำให้เขาหยุดร้องเมื่อยามที่กำลังงอแง และจะมีท่าทีตอบสนองโดยส่งเสียงอ้อแอ้ตอบบ้าง เมื่อใกล้ 4 เดือน ลูกจะชอบทำเสียงคุยอ้อแอ้ อืออา เมื่อมีคนมาคุยด้วยได้นานพอควร บางครั้งอาจนานถึง 20 นาที ถ้าเขามีอารมณ์ดี ช่วงนี้เด็กจะเริ่มหันหาเสียงที่ได้ยินดีขึ้น และเสียงคุยที่อ่อนโยนนุ่มนวลของคุณแม่ จะกระตุ้นให้เขาส่งเสียงโต้ตอบได้ดีกว่าเสียงที่ดังหวือหวา

          ลูกจะมองตามคุณแม่ที่เดินไปมาอยู่ต่อหน้าเขาได้ดีขึ้น ช่วงเดือนที่ 3 นี้ลูกจะยังชอบกำมือ และอมมืออย่างอร่อย แต่ในเวลาไม่นาน ลูกก็จะเริ่มรู้จักเปิดมือ และเริ่มคว้าจับ ลูกจะลองใช้นิ้วมือ ลองขยับนิ้วเล่น และยกมือขึ้นมามอง จะเริ่มจำสิ่งต่างๆได้มากขึ้น และแสดงท่าทีดีใจ เมื่อได้เห็นสิ่งที่เขาชอบ โดยเฉพาะเวลาที่เห็นคุณแม่ เวลาที่คุณอยู่กับลูก เช่น เวลาอาบน้ำ, ขณะเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือป้อนนม ก็ควรพยายามพูดกับลูกเสมอๆ ด้วยเสียงอ่อนโยนนุ่มนวล ด้วยคำสั้นๆ โดยการเรียกชื่อของส่วนต่างๆของร่างกายของลูก เช่น “ ยกแขน” ขณะที่คุณกำลังจับแขนลูก ฯลฯ แม้ว่าลูกจะยังไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพูดนัก แต่ก็จะเป็นการสอนให้ลูกรับรู้โทนเสียงรู้จังหวะของการสนทนา และความหมายกว้างๆของคำนั้นได้
เมื่อคุณประคองตัวลูกขึ้นมาอยู่ในท่านั่ง ลูกจะชันคอได้ดีขึ้น แต่ยังต้องคอยจับไว้ไม่ให้ล้ม เมื่อวางนอนคว่ำ เขาจะพยายามยกหัวและหน้าอกให้พ้นพื้นได้ช่วงสั้นๆ

           เวลานอนหงายอยู่เขาจะเริ่มใช้มือปัดป่ายไปมา และเอามือทั้ง 2 ข้างมาเล่นด้วยกันได้
จากนี้ไปคุณควรเตรียมที่จะจัดให้ห้องลูก และบริเวณที่จะให้เด็กอยู่เป็นส่วนใหญ่ ให้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก (Babyproofing area) พยายามให้ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่มีของที่อาจเป็นอันตรายอยู่ใกล้ๆ เช่น กระติกน้ำร้อน, น้ำยาทำความสะอาดพื้น, เครื่องแก้วที่แตกง่าย หรือ ของที่มีขนาดเล็กๆ ที่เด็กอาจจะเอาเข้าปากได้ง่ายๆ เช่น ยาเม็ดของผู้ใหญ่, เม็ดกระดุม, ของเล่นที่อาจมีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่อาจหลุดเข้าปาก ทำให้สำลักลงปอดได้ เพราะอีกไม่นาน ลูกจะสามารถพลิกตัวหรือคืบไป
จนถึงสิ่งเหล่านี้ และอาจเกิดอันตรายได้


          ในช่วงนี้ แม้ว่ากิจกรรมต่างๆของลูกดูเหมือนจะเริ่มเป็นเวลา ที่เหมือนจะแน่นอนขึ้น แต่ก็พบว่า บางครั้งอาจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ถ้าเขาง่วงมาก อาจหลับไปเลยหรืออาจจะงอแงกวนอยู่พักใหญ่ ทำอะไรให้ก็ไม่เอา แต่ก็ขอให้เข้าใจ และให้จัดเวลาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนเดิมในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยให้เขาปรับตัวได้ดีกว่าการเปลี่ยนกิจกรรมไปมา จนลูกสับสนคาดเดาไม่ได้ว่าจะทำอะไรต่อไป อีกไม่นานเขาก็จะเข้าที่ดีกว่านี้


          ในเวลากลางคืน ลูกจะเริ่มนอนได้นานขึ้น แต่ก็ยังจะมีการตื่นขึ้นมาทานนมบ้าง สักมื้อหนึ่ง หรืออาจจะตื่นมากวน พลิกตัวไปมา เหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น คุณไม่ต้องคอยกังวล และพยายามรีบเข้ามาอุ้มลูก ป้อนนม หรือกล่อมลูก เพื่อให้เขาได้หลับเหมือนเมื่อก่อน เพราะบางครั้งลูกจะดูเหมือนตื่น แต่ก็สามารถหลับต่อได้เองในเวลาต่อมา คุณสามารถช่วยฝึกลูก ให้เขาจัดระเบียบการนอน การตื่น ได้ดีขึ้น โดยในช่วงกลางวันเมื่อเขาตื่น ให้พยายามทำบรรยากาศให้สดใส น่าสนใจ ชวนลูกคุยเล่น หรือพาออกจากเตียงของเขาเพื่อให้เขาตื่นนานขึ้นในตอนกลางวัน

       และเมื่อถึงเวลานอนตอนกลางคืน ก็พยายามปรับสภาพแวดล้อม ให้อยู่ในความสงบ สร้างบรรยากาศในการนอน เช่น ให้ไฟในห้องไม่สว่างนัก ไม่มีเสียงดังจากทีวี หรือโทรศัพท์คอยกวน ไม่ชวนลูกคุยหรือเล่นในเวลากลางคืน เพื่อให้ลูกค่อยๆเรียนรู้ว่ากลางคืน มืด เงียบ ต้องนอน ปรับอุณหภูมิในห้องให้เย็นสบาย และอาจจะป้อนนมก่อนนอน พร้อมกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ให้ เพื่อให้เขาได้หลับอย่างสบาย และอาจรวมถึงการกล่อมลูกให้นอนอย่างที่คุณถนัดด้วย


       มาถึงตอนนี้คุณแม่และลูกก็จะรู้ใจกันมากขึ้น คุณรู้ได้ว่าท่าทางและการร้องของเขานั้นหมายถึงอะไร และคุณควรจะทำอย่างไรให้เขาสบาย และอบอุ่นที่มีคุณอยู่
ใกล้ๆคอยดูแลเขา เขาจะเริ่มมีความไว้วางใจในสิ่งรอบข้าง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีต่อบุคลิกภาพ และอารมณ์ของเขาในอนาคต
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
http://www.clinicdek.com