การพัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 2 เดือน (14 เดือน)
การพัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 2 เดือน (14 เดือน) "ท้าทายและฝึกฝน"
ช่วงอายุนี้ ลูกควรจะทำมือ “บ้าย…บาย” และในบางคนจะสามารถกลิ้งลูกบอลไปและกลับ เมื่อเล่นกับผู้ใหญ่ หลายรายจะสามารถดื่มจากถ้วยได้ และบางคนจะเริ่มทำตัวเป็น “ผู้ช่วยใหญ่” ของบ้าน ลูกควรจะยืนเองได้นาน และสามารถนั่งลงเอง และยืนขึ้นด้วยตัวเองได้ ในบางรายที่มีความคล่องตัวมาก และเดินได้เก่งแล้ว อาจสามารถเดินถอยหลังได้บ้าง ลูกจะเรียนรู้ศัพท์ต่างๆใหม่ๆ ทุกวัน และจะพูดได้หลายคำขึ้น เขาจะเริ่มรู้ว่าเขาต้องการสิ่งไร และรู้วิธีที่จะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ
การพัฒนาการหลัก ที่ลูกควรทำได้แล้ว
ช่วงอายุนี้ ลูกควรจะทำมือ “บ้าย…บาย” และในบางคนจะสามารถกลิ้งลูกบอลไปและกลับ เมื่อเล่นกับผู้ใหญ่ หลายรายจะสามารถดื่มจากถ้วยได้ และบางคนจะเริ่มทำตัวเป็น “ผู้ช่วยใหญ่” ของบ้าน ลูกควรจะยืนเองได้นาน และสามารถนั่งลงเอง และยืนขึ้นด้วยตัวเองได้ ในบางรายที่มีความคล่องตัวมาก และเดินได้เก่งแล้ว อาจสามารถเดินถอยหลังได้บ้าง ลูกจะเรียนรู้ศัพท์ต่างๆใหม่ๆ ทุกวัน และจะพูดได้หลายคำขึ้น เขาจะเริ่มรู้ว่าเขาต้องการสิ่งไร และรู้วิธีที่จะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ
ด้วยความตื่นเต้นที่เขาสามารถเดิน ไปหาสิ่งที่เขาสนใจได้โดยง่าย ทำให้ลูกเห็นอะไรน่าจับ น่าลองไปหมด คุณพ่อคุณแม่จึงควรตรวจดูสภาพในห้องของลูก และในบ้านบริเวณที่ลูกจะไปถึงได้ ให้มีความปลอดภัย เช่น การล็อกลิ้นชักของตู้และโต๊ะ, การเอาเทปกาวปิดรูปลั๊กไฟ, การเก็บของมีคม หรือเครื่องแก้วให้พ้นมือเด็ก ฯลฯ ก็จะทำให้คุณพอจะสบายใจได้ว่า ลูกจะปลอดภัยในระดับหนึ่ง คุณอาจจะหากล่อง หรือ ลังพลาสติกสำหรับให้ลูก ใส่ของเล่นที่ปลอดภัย เช่น กล่องพลาสติกขนาดไม่เล็กนัก, ตุ๊กตา, ลูกปิงปอง ฯลฯ ไว้ให้เขารื้อค้น เอาเข้าเอาออกได้เองง่ายๆ เขาจะชอบมากที่จะได้ช่วยคุณ “จัดของ” และ นั่นคือการเรียนรู้ที่สำคัญ อีกขั้นหนึ่งสำหรับลูก
เรื่องกิน….เรื่องใหญ่…
เด็กในวัยนี้ จะยังไม่มีคอนเซปต์ ของการทานอาหารเป็นมื้อ อย่างที่ผู้ใหญ่ทำกัน สำหรับเขาแล้ว การกินก็เหมือนกับสิ่งอื่นๆ ที่เขาตื่นเต้น เป็นของใหม่ที่น่าลอง น่า….ทำให้เละ ! นั่นคือเขากำลังเรียนรู้นั่นเองว่า ของนุ่ม ของหวาน ของแข็งเป็นอย่างไร และอยากรู้ว่า ถ้าลองละเลงเล่นจะเกิดอะไรขึ้น… และถ้าตกลงพื้นแล้วเกิดอะไรขึ้น …จึงเป็นที่แน่นอนว่า แต่ละมื้อของลูกจะเลอะเทอะบ้าง เขาจะพยายามฝึกทักษะ การจับช้อนเข้าปาก ซึ่งเป็นการฝึกการใช้มือ และการสั่งงานระดับสูงขึ้นของสมอง ให้มีการประสานงานกันระหว่างการใช้มือและสายตา ในการป้อนอาหารใส่ปาก คุณควรเตรียมสถานที่ บริเวณที่ใช้ป้อนอาหารเด็ก ให้สามารถทำความสะอาดได้ง่าย
เริ่มมีความผูกพันกับสิ่งของ ที่ทำให้เขารู้สึกสบาย
เด็กเริ่มต้องการความมั่นใจ และสิ่งต่างๆ ที่มาช่วยให้เขารู้สึกสบายใจ (sense of security) จึงจะเห็นว่า เด็กบางคนเริ่มติดตุ๊กตา บางคนเริ่มติดผ้าห่ม หรือหมอน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาจะสามารถหันหา เพื่อความสบายใจ เมื่อเกิดความรู้สึกกลัว หรือไม่สบายใจ โดยเฉพาะเมื่อตอนเหนื่อยๆ หรือง่วงนอน และตอนที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้อยู่ใกล้ๆ ลูก ซึ่งการติดของเหล่านี้นั้น เป็นขั้นตอนการพัฒนาการที่ปกติ และไม่มีผลกระทบ ทางด้านลบต่อเด็กในอนาคต จึงอยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเขา และยอมให้เขาได้มีสิ่งเหล่านี้ไว้ข้างกาย เมื่อเวลาเขารู้สึกคิดถึงมัน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์