พัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 3 เดือน (15 เดือน)
การพัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 3 เดือน (15 เดือน) "นักสำรวจ"
มาถึงตอนนี้ลูกควรจะเดินได้คล่อง และบางทีวิ่งแล้ว พูดได้หลายคำ และชอบลากหรือดันของเล่นเดินไปมา บางคนจะหัดเดินถอยหลังได้ เริ่มใช้ช้อนและส้อม ในการตักอาหารได้ดีขึ้น ลูกจะชอบให้คุณเล่นเกมกับเขา เช่น เอานิ้วชี้ที่หู แล้วถามว่า หูอยู่ไหน หรือ มองกระจกเงาดูตัวเอง แล้วถามว่า นั่นใครเอ่ย ลูกจะชอบเอาของหยอดลงกล่อง และชอบลองดูว่า ของไหนจะฟิตกับช่องไหน (ควรหาของเล่นที่เป็นกระป๋อง ที่มีฝาเป็นช่องขนาดต่างๆ และมีชิ้นพลาสติกรูปทรงต่างๆ ที่ฟิตพอดีให้เด็กได้ลองใส่ลงไปทีละช่อง เพื่อฝึกทักษะการสังเกตรูปทรงที่แตกต่างกันชอบเล่นเกม
อารมณ์และบุคลิกประจำตัว
เด็กแต่ละคนเป็นปัจเจกบุคคล เหมือนคุณเองเช่นกัน และแต่ละคนก็เกิดมาพร้อมกับคุณลักษณะประจำตัว และมีวิธีการที่จะตอบสนองต่อคนอื่นๆ และเรื่องต่างๆในแบบของตนเอง ซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้นคุณสมบัติ และบุคลิกเฉพาะตัวเหล่านี้ ก็จะแสดงออกชัดเจนขึ้น ในขณะที่เด็กคนหนึ่งอาจจะเป็นเด็กเรียบร้อย และมีความสามารถในการปรับตัว เข้ากับสภาวะต่างๆ รอบข้างได้ดี แต่อีกคนหนึ่ง อาจจะมีลักษณะ เป็นคนเจ้าระเบียบ และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆอะไรเลย คุณควรจะลองสังเกตดูว่า ลูกจะเป็นคนที่มีบุคลิก และลักษณะประจำตัวเป็นเช่นไร เพื่อที่จะได้ปรับสภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดูให้สอดคล้องไปกับเขา เพื่อส่งเสริมให้เขาสามารถ นำส่วนที่ดีในตัวเขาออกมาใช้ได้ ซึ่งจะเป็นหลักที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในอนาคต
เริ่มรู้จักว่าตนเองนั้นมีตัวตน (Awareness of self)
ที่อายุ 15 เดือน ลูกจะเริ่มแยกแยะได้ว่า ภาพเด็กที่เขาเห็นอยู่ในกระจกเงานี้ คือตัวเขา ไม่ใช่เด็กคนอื่น ที่มาเล่นด้วยกับเขา เขาจะไม่พยายามเอามือยื่นออกไปจับภาพในกระจก เพื่อทักทาย “เด็กคนนั้น” อีก ลูกจะเริ่มรู้จักว่า ตนเองนั้นมีตัวตน และแตกต่างจากคนอื่น (autonomy) จะไม่ใช่รู้สึกว่า เป็นคนๆเดียวกันกับคุณแม่อีกต่อไป
เริ่มดื้อ…(จริงหรือ? )
เนื่องจากเด็กเริ่มที่จะแยกตนเอง ออกจากแม่ได้ และกำลังฝึกฝนความเป็นตนเองอยู่ เด็กจึงดูเหมือนจะไม่ยอมฟังผู้ใหญ่ ที่มักจะคอยห้าม ไม่ให้เขาทำโน่น ทำนี่ ต้องการให้เขาต้องทำตาม ที่ผู้ใหญ่บอกให้ทำ แต่เขาก็ไม่ยอมทำตาม เพราะเขาต้องการเป็นคนตัดสินใจเอง เป็นตัวของตัวเอง (sense of self) จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจจะรู้สึกว่าลูกเริ่มดื้อขึ้น พอเด็กซนเล่น ต่อหน้า ก็จะคอยห้ามทำโน่น ห้ามทำนี่ อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะรู้ว่า ถึงอย่างไรลูกก็ไม่ฟังเรา และไม่ยอมทำตามที่บอก ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจขั้นตอน ของการพัฒนาการของลูก ในช่วงอายุนี้แล้ว ก็จะไม่รู้สึกโกรธ และจะไม่พยายามกล่าวคำว่า “ห้ามทำ…. อย่านะ….” อยู่ตลอดโดยไม่เป็นผล หรือจะไม่ฉุน จนเกิดการลงโทษเด็กที่ “ดื้อ” เพราะเขาไม่ยอมทำตาม ที่ผู้ใหญ่สั่งนั่นเอง เราจึงควรหาวิธีที่จะลดปัญหาความขัดแย้งนี้ลง โดยการพูด หรือแสดงออกในเชิงบวก เช่น แทนที่จะพูดว่า “อย่าจับแก้วนั้นนะ” ก็อาจจะพูดเป็น “ลูกปลามาเล่นกับแม่ที่ตรงนี้ดีไหมคะ” ก็จะทำให้เด็กรับฟังเรามากขึ้น
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------