พัฒนาการปกติ เดือนที่ 12
พัฒนาการปกติ เดือนที่ 12 “ หนูเดินได้แล้ว”
ลูกจะเริ่มมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง และรู้ว่า
ตนเองก็เป็นคนหนึ่งคน ที่แยกจากแม่ได้ (sense of self)
เขารู้สึกถึงการเป็นตัวตนของเขา และจะมีวิธีที่จะบอกคุณได้ว่า อะไรชอบ อะไรไม่ชอบ
และ เขาต้องการอะไรจากคุณ
ลูกจะเริ่มพูดคำเดี่ยวๆ
ที่มีความหมายได้ อย่างน้อย 2-3 คำ
และจะชอบทำเสียงโทนสูงต่ำเหมือนกำลังคุย ด้วยภาษาของเขาเอง
ซึ่งผู้ใหญ่จะฟังไม่รู้เรื่อง
ประมาณ 3 ใน 5 รายของเด็กที่อายุ 1 ปี จะเริ่มเดินได้เอง ในวันครบรอบวันเกิดของเขา แต่ก็ยังต้องการการฝึกฝนอีกสักพัก ก่อนที่จะเดินได้คล่อง บางครั้งเด็กจะล้ม ซึ่งมักจะมีการร้องไห้ตามมาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใช่จากเจ็บตัว แต่จะเป็นจากตกใจ หรือหงุดหงิดที่ตนเองยังไม่สามารถเดินไปถึงที่ที่เขาต้องการ และหลายต่อหลายครั้งเด็กที่เริ่มเดินได้แล้ว จะกลับมาใช้วิธีคลานอีก เนื่องจากยังถนัด ที่จะพาตนเองไปไหนตามใจ โดยการคลาน และเขายังพบว่าเขาคลานได้เร็วกว่าเดินในช่วงแรกๆ
น้ำหนักของลูก ดูจะไม่ค่อยขึ้นมากนักเหมือนเมื่อก่อน
เป็นเพราะลูกจะมีกิจกรรม ให้ทำหลายอย่าง ซึ่งจะใช้พลังงานที่ได้ไปในการนี้พอสมควร
ไม่เหมือนตอนเล็กๆ ที่จะกินกับนอนเป็นส่วนใหญ่
และพฤติกรรมการทานอาหารก็จะยังไม่แน่นอน บางครั้งจะชอบทานอย่างหนึ่ง ไปหลายมื้อติดๆ
กัน แต่อีกวันอาจจะไม่เอาอาหารอย่างเดิมเลย หรือมีสิ่งที่น่าสนใจ
ดึงให้เขาไม่อยากนอน ในตอนนั้น ซึ่งคุณควรจะทำตัวสบายๆ
อย่าเข้มงวดว่าเขาจะต้องเข้านอนตรงตามเวลา ที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
ควรอะลุ่มอะหล่วยบ้าง
วัยนี้เด็กบางคนจะเริ่มมีการอาละวาด ลงไปดิ้นกับพื้น
เมื่อถูกขัดใจบ้าง (Temper
tantrums) ซึ่งอาจทำให้คุณตกใจ และถ้ายิ่งคุณหงุดหงิด
อารมณ์เสียใส่เขา ก็จะยิ่งมีการอาละวาดมากขึ้นไปอีก
ลูกต้องการคุณช่วยในการสอนให้เขารู้จักการควบคุมอารมณ์ของเขา เมื่อเขาโกรธหรือโมโห
ดังนั้นคุณควรจะคุมตัวคุณเองให้ได้ก่อน และพูดหรือโต้ตอบกับเขา ด้วยท่าทีที่สงบเย็น
ก็จะช่วยให้ลูกเริ่มเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ของเขาเองได้ต่อไปในอนาคต
ลูกอาจจะดูเป็นเด็กอารมณ์ดีน่ารัก ในช่วงขณะหนึ่ง
แต่อีกแป็บเดียว อาจจะงอแงร้องไห้ได้ หรืออาจจะกลายเป็นเด็กที่ดื้อที่สุด
ในอีกไม่กี่นาทีต่อมา แต่เขาก็ยังต้องการคนอยู่ใกล้ที่คอยดูแลเขา
ในการเล่นกับเด็กคนอื่นๆ จะยังเป็นแบบต่างคนต่างเล่น
จะไม่เล่นด้วยกันแบบเด็กโต แต่ก็จะอยากให้มีเด็กคนอื่นอยู่ใกล้ๆ เช่นกัน
โดยเฉพาะถ้ามีเด็กที่โตกว่า มาเล่นกับเขา จะรู้สึกสนุกมาก
คุณควรเริ่มการฝึกอบรมสอนลูกให้รู้ว่าอะไรทำได้
ทำไม่ได้ อะไรถูกอะไรผิด (ไม่ใช่จับมานั่งฟังเทศน์)
ที่เรียกว่า Discipline ซึ่งมีความหมายลึกซึ้ง
โดยอาศัยความรักความเข้าใจที่คุณมีต่อลูก
หลักการก็คือ ความสม่ำเสมอ
(consistency) ไม่ใช่ว่า ในกรณีเดียวกันเดี๋ยวได้ เดี๋ยวไม่ได้
คุณควรจะมีเกณฑ์อยู่ในใจ ที่ไปในแนวเดียวกัน ทั้งคุณพ่อและคุณแม่
(รวมทั้งผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่ดูแลเด็กด้วย) เพื่อให้ลูกค่อยๆ เรียนรู้กฎเกณฑ์
และกติกาของการอยู่ร่วมกัน
และการปฏิบัติตน พยายามใช้วิธีละมุนละม่อมและชัดเจนกับลูก
จะช่วยให้เขาเข้าใจได้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกว่าไม่
แต่อีกคนรีบเข้ามาโอ๋ และให้เด็กได้ของนั้นๆ หรือเชียร์ให้เด็กทำตรงข้าม
กับที่ห้ามไว้ทันที
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ ควรจะหาเวลาพูดคุยกันเอง ถึงเรื่องต่างๆ
เหล่านี้ เพื่อที่จะได้ “ส่งและรับ เรื่อง” กันทัน เมื่อลูกเกิดอาการงอแงขึ้น
ควรใช้วิธีกระตุ้นในเชิงบวก (positive
re-enforcement) โดยการสนับสนุนพฤติกรรมที่ดี ให้คงอยู่
และแสดงให้ลูกทราบว่า คุณไม่ชอบ
ถ้าเขาแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ออกมา
ควรเก็บการลงโทษ หรือการใช้การกระทำอันเด็ดขาด
ในการจัดการกับเขา ไว้เฉพาะในกรณีที่พฤติกรรมที่เขากำลังทำอยู่นั้น
เป็นสิ่งที่อาจเกิดอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นได้ และใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ
เท่านั้น
เด็กบางคนจะเริ่มติดตุ๊กตานุ่มๆ, ผ้าห่ม, หมอน
เพราะเขาจะใช้แทนการมีตัวคุณแม่อยู่ใกล้ตลอดเวลา เนื่องจากเขาโตขึ้นก็จริง
แต่ก็ยังจะมี ความรู้สึกไม่อยากแยกจากคุณแม่
(separation anxiety) ซึ่งถึงแม้จะไม่มากเหมือนเมื่อก่อน
แต่ก็ยังมีอยู่บ้าง และเช่นกัน ใน การกลัวคนแปลกหน้า (stranger
anxiety) ก็จะยังคงมีอยู่บ้าง
โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องออกไปข้างนอกบ้านกับคุณ
จึงควรระวังที่จะไม่ปล่อยเขาไว้โดยลำพัง กับคนที่เขาไม่คุ้นเคย
โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่ใหม่ ที่เขาไม่รู้จักคุ้นเคย
อีกไม่นานลูกของคุณก็จะมีอายุครบ 1 ขวบเต็ม จากตอนแรกเกิด
ที่เขาไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย มาถึงตอนนี้ ที่เขาพอจะทำอะไรได้เองมากขึ้น
เขาเริ่มรู้จักการเป็นตัวของตัวเอง การช่วยตนเอง และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
ซึ่งอีกไม่นานเขาก็จะเป็นคนๆ หนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเขา และไม่มีใครเหมือน
และไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไร เขาก็คือ ดวงใจของเรานั่นเอง
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะทำได้ต่อไปก็คือ การช่วยกันอบรมเลี้ยงดูเขา
ให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีความสุข ประสบความสำเร็จ และเป็นคนดีของสังคม
ได้ดังที่เราตั้งใจไว้
ขอบคุณผู้เขียน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์