เด็กสมาธิสั้น คืออะไร?
อาการสมาธิสั้น โดย ดร.ฮาลโลเวล
ADHD มาจาก Attention Deficit Hyperactivity Disorder หรือแค่ ADD ซึ่งมาจาก Attention Deficit Disorder เป็นศัพท์ทางการแพทย์ซึ่งไม่น่ากลัวอะไร เพราะถ้าคุณจัดการมันได้ดี ADHD หรือ ADD หรืออาการสมาธิสั้น จะเป็นเหมือนเพื่อนคุณและคุณสมบัติที่น่าสนใจของคุณ
ADD หรือ ADHD หรือบางครั้งใช้ AD/HD ไม่ว่าชื่อไหนก็แล้วแต่ เป็นอาการที่พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ในเรื่องการขาดสมาธิ, ความหุนหันพลันแล่น, และความกระสับกระส่ายหรืออยู่นิ่งไม่ได้ สำหรับผมไม่ควรใช้คำว่า ADHD เพราะผมคิดว่าภาวะแบบนี้ไม่ใช่ความพิการ หรือ การขาดความตั้งใจ ผมมองสมาธิสั้นว่าเป็นลักษณะนิสัยเฉพาะอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความผิดปกติ หากมีการจัดการที่ดี จะสามารถกลายเป็นคุณสมบัติเด่นของคนๆ หนึ่งได้ ผมก็เป็นสมาธิสั้นและเขียนหนังสือกับ Catherine Corman เกี่ยวกับคนที่ประสบความสำเร็จมากมายที่เป็นคนสมาธิสั้นเหมือนกัน ทำให้ผมรู้ดีว่ากำลังพูดถึงอะไร
สำหรับผมชอบที่จะอธิบายว่า สมาธิสั้น คือการมีสมองเหมือนรถแข่งแต่มีเบรกแบบที่ใช้กับจักรยาน (having ADD is like having a powerful race car for a brain, but with bicycle brakes) การพยายามจัดการกับอาการเหล่านี้คือการทำให้เบรกของคุณใช้งานได้ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น แล้วคุณก็จะชนะทุกสนามแข่งในชีวิตคุณ
การทำงานของผมในฐานะนักจิตวิทยาคนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือคนสมาธิสั้น ผมไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นหมอกำลังช่วยคนที่ผิดปกติ แต่เป็นหมอที่ช่วยคนทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเด็ก ที่มีอาการนี้เหมือนผม ให้สามารถค้นหา พัฒนา และสร้างสรรค์ พรสวรรค์ที่เค้ามีอยู่ นั่นทำให้ผมรักงานที่ผมทำ
ความแตกต่างของ ADD และ ADHD คืออะไร
คำตอบนี้ง่ายๆ ADHD จะพบอาการกระสับกระส่ายทางร่างกายมากเกินไป หรือ อาการอยู่ไม่ค่อยนิ่ง นั่นเป็นส่วนที่อธิบายตัว H แต่สำหรับ ADD อาการอยู่ไม่นิ่งจะหายไป (ในบางตำราก็จัดว่าเป็นประเภทย่อยของ ADHD คือ inattentive subtype) เราจะพบว่าคนที่เป็น ADD จะดูสงบ นิ่งๆ ใจเย็น ไม่ดูวุ่นวายเหมือนคนที่มีอาการแบบ ADHD อาการแบบนี้มักพบในเด็กผู้หญิงและผู้หญิงมากกว่า หรืออาจพบในเด็กผู้ชายหรือผู้ชายที่โตแล้วด้วย และเรามักจะไม่ค่อยรู้ว่าคนๆ นี้ก็เป็นคนสมาธิสั้นได้เหมือนกัน เพราะไม่เห็นอาการหลุกหลิกอยู่ไม่นิ่ง ทำให้คนมองเด็กหรือผู้ใหญ่เหล่านี้ว่าอาจเป็นแค่คนที่ขี้อาย สงบเสงี่ยม หรือเฉื่อยๆ ช้าๆ แต่จริงๆ แล้วในหัวพวกเค้าก็เหมือนเครื่องไดนาโมดีดีนี่เอง
คุณสมบัติในด้านที่ดี จากการเป็นคนสมาธิสั้น คืออะไรบ้าง
คนสมาธิสั้นโดยมากจะมีความคิดสร้างสรรค์, มีลางสังหรณ์ที่ดี, ชอบทำอะไรแหวกแนวไม่เหมือนใคร, และมีพลังบวกเยอะ พวกเค้ายังชอบคิดอะไรนอกกรอบเดิมๆ หรืออาจเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นดื้อ และโดยปกติจะเป็นคนอ่อนไหวง่ายแต่ก็จะไม่ถึงกับอ่อนแอด้วยความเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย พวกเค้าใจกว้าง ใจดี มักจะมีพรสวรรค์พิเศษในบางอย่าง มีประกายในดวงตา มีอารมณ์ขัน และมีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ถ้าหากได้รับแนวทางที่ดี คนเหล่านี้จะมีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตได้
คุณสมบัติด้านลบ ของคนสมาธิสั้นมีอะไรบ้าง
คนเหล่านี้มีปัญหาในการตั้งสมาธิและจดจ่อกับอะไรนานๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่ตัวเองไม่ค่อยสนใจ หรือในทางกลับกันก็สามารถจดจ่อมากเกินไปในบางครั้ง บางทีพวกเค้าก็อาจจะหุนหันพลันแล่นหรือมีอาการอยู่ไม่นิ่งซึ่งอาจจะสร้างปัญหาได้ พวกเค้าจะมีปัญหาในการจัดการและการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ หรือการจัดการเวลา หรือแม้กระทั่งทำงานแต่ละอย่างให้เสร็จ เค้าอาจจะไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่เค้ามีต่อคนรอบข้างซึ่งทำให้เวลาเข้าสังคมอาจดูเป็นคนแปลกๆ หรือทำอะไรไม่เหมาะสม อีกเรื่องคือเค้าอาจลืมนู่นนี่ได้ง่าย หรือดูเป็นคนไม่ค่อยสม่ำเสมอเวลาทำอะไร และอาจจะมาสายบ่อยๆ พวกเค้ามีปัญหาในการวางแผนหรือศัพท์ทางจิตแพทย์เรียกว่า “ความสามารถในการบริหาร” (executive functioning) ข่าวดีคือการหาทางรักษาจะช่วยแก้ไขอาการเหล่านี้หรือข้อเสียเหล่านี้ให้ดีขึ้น และข้อดีของเค้าก็จะค่อยๆ เข้ามาเติมเต็ม
แล้วควรจะรักษาอย่างไรบ้าง?
สำหรับผมการรักษาควรเริ่มจากการให้การศึกษา คุณต้องเรียนรู้ว่าอาการสมาธิสั้นคืออะไร และไม่เกี่ยวกับอะไร คุณต้องรู้จักการเป็นคนสมาธิสั้นให้ดีพอและยอมรับมันได้ และตระหนักว่าอาการต่างๆ เหล่านี้อาจจะมีผลทำให้คุณหยุดอยู่กับที่ และขณะเดียวกันก็ให้รู้ว่าการช่วยเหลือที่เหมาะสม จะทำให้คุณก้าวไปจนถึงฝันหรือเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ได้ คุณต้องเข้าใจด้วยว่าการเป็นคนสมาธิสั้นก็มีข้อดีและค้นหาว่าส่วนดีดีที่เกิดขึ้นกับชีวิตคุณคืออะไร
เมื่อคุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นคนสมาธิสั้นมากพอ – ทั้งข้อดีข้อเสีย – คุณก็เริ่มการเปลี่ยนแปลงได้จากแนวทางที่เหมาะสม เช่น หาผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจเรื่องสมาธิสั้นเป็นอย่างดี และใช้แนวทางรักษาซึ่งต่อยอดคุณสมบัติดีๆ ที่คุณมีอยู่แล้ว มองการรักษาเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับชีวิตคุณ โดยปกติคุณต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยแนะนำให้คุณจัดการสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ต้องเข้านอนตรงเวลา และหาเวลาออกกำลังกาย การรักษาอาจเกี่ยวข้องกับการกินโดยดูเรื่องสารอาหารที่จำเป็น หรือคุณอาจจะต้องลองเปลี่ยนงานหรือโรงเรียนเพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในการจัดการกับอาการสมาธิสั้น และที่สำคัญการหาทางจัดระเบียบให้กับหลายๆ เรื่องในชีวิตก็จะส่งผลที่ดีมากๆ ตามมาด้วย เช่น จัดระบบเอกสารให้ดีขึ้น, วางแนวทางจัดการสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมขึ้น, หรือ ปรับตารางงานและชีวิตในแต่ละวันใหม่
อีกอย่างคือคุณอาจจะต้องเล่าเรื่องของครอบครัวให้ผู้เชี่ยวชาญฟัง เช่นถ้าคุณยังอายุไม่มาก การพาครอบครัวมาฟังคำแนะนำด้วยก็จะช่วยได้มาก หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่และมีคู่รักมาร่วมการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญก็สำคัญมากเช่นกัน นอกจากการเรียนรู้ว่ามันคืออะไร การโค้ชชิ่ง และการบำบัด คุณยังควรมีแผนที่จะพัฒนาจากจุดแข็งและความสนใจของคุณ อาจจะใช้เวลาแต่ก็เป็นหัวใจสำคัญ เพราะชีวิตคนเราจะดีขึ้นได้ไม่ใช่จากข้ออ่อนที่เราแก้ไข แต่จากการพัฒนาจุดเด่นหรือพรสวรรค์ที่เรามีอยู่ แน่นอนการแก้ไขจุดอ่อนก็จะช่วยให้คุณสามารถพัฒนาข้อเด่นขึ้นมาได้เช่นกัน ฉะนั้นทั้งสองอย่างก็ต้องไปพร้อมๆ กัน
การใช้ยาจะช่วยได้หรือไม่?
ถ้าได้ยาที่ใช้ได้ดีกับคุณ ยาพวกนี้จะช่วยได้มากและปลอดภัยเหมือนคุณได้ใส่แว่นตา การใช้ยาช่วยทำให้คุณประหยัดเวลาในการรักษาถึง 80% คุณควรพบแพทย์ที่สามารถอธิบายผลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาอย่างชัดเจน คนจำนวนมากไม่รู้ว่าการใช้ยาก็ปลอดภัยและมีประสิทธิผลดีหากใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้นต้องหาแพทย์ที่มีประสบการณ์จริงเรื่องนี้และช่วยแนะนำคุณได้ ยาช่วยกระตุ้นสำหรับคนสมาธิสั้นมีหลายตัว เช่น Ritalin, Concerta, Adderall, Vyvanse, Focalin, หรือตัวอื่นๆ อีก หากใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ก็จะช่วยคุณได้มากจริงๆ
การรักษาทางเลือกสำหรับอาการสมาธิสั้น เป็นอย่างไรบ้าง?
เรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ แต่สิ่งสำคัญคือไม่ว่าวิธีการไหนที่คุณจะลองต้องปลอดภัย และควรเป็นวิธีการที่ให้ผลที่ดีกับผู้มารับการรักษาจำนวนหนึ่งแล้ว วิธีรักษาทางเลือกที่ผมมีประสบการณ์ในทางที่ดี ก็เช่น LENs เป็นวิธีการเกี่ยวกับ biofeedback วิธีหนึ่ง, Learning Breakthrough เป็นกระบวนการกระตุ้นสมองส่วน cerebellar ด้วยการออกกำลังกาย, Cogmed การใช้เกมส์คอมพิวเตอร์ในการปรับปรุงสมองเกี่ยวกับความจำ, วิธี Sensory Solutions ของผมเป็นการตรวจสอบและกระตุ้นประสาทในส่วนรับความรู้สึกด้วยอุปกรณ์ iPod และหูฟัง, Reading plus การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการพัฒนาทักษะการอ่านและความเข้าใจ หรือวิธีการอื่นๆ ที่ดูเรื่องสารอาหารจากการกิน
Q: สำหรับคุณอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในโปรแกรมการรักษา
A: การใช้แนวคิดเชิงบวกคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และแน่นอนคุณต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และเป็นที่รู้จัก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่คุณชอบด้วย เป็นคนที่คุณรู้สึกว่าเข้าใจคุณหรือลูกของคุณ คนที่คุณกล้าที่จะเปิดใจและเล่าเรื่องต่างๆ ได้อย่างสะดวกใจ การรักษาอาการสมาธิสั้นต้องใช้เวลา โดยมากใช้เวลาหลายปีดังนั้นต้องมั่นใจว่าคุณได้คนที่คุณเชื่อใจ คนที่ใส่ใจคุณและคนในครอบครัว และที่สำคัญคือคนที่มองเห็นเส้นทางไปสู่ความฝันของคุณหรือของลูกคุณได้อย่างชัดเจน
Q: ดร.ฮาโลเวล ประสบการณ์ของคุณในการทำงานเรื่องสมาธิสั้น (ADHD/ADD) คืออะไร
A: ผมเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาในเรื่องสมาธิสั้น (ADD) และ dyslexia (ปัญหาของสมองที่สัมพันธ์กับการอ่าน) ร่วมด้วย ปัญหาเรื่องการอ่านของผมได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ตอนอยู่โรงเรียนแต่ผมไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการสมาธิสั้นจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย (ผมจบจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ด้วยเกียรตินิยมภาควิชาภาษาอังกฤษ, ในขณะที่ก็เรียนเตรียมแพทย์ไปด้วย ผมไม่ได้อยากโอ้อวด เพียงต้องการให้เห็นว่าสมาธิสั้นไม่จำเป็นต้องรั้งเราจากการตามความฝันเสมอไป), จบวิทยาลัยแพทย์ (จาก Tulane เป็นที่ที่ผมรัก ส่วนหนึ่งเพราะอยู่ที่ New Orleans และได้พบกับคนที่น่าสนใจมากมายในวิทยาลัยแพทย์), และจบการเป็นแพทย์ฝึกหัดด้านจิตวิทยาที่ Mass. Mental Health Center ของ Harvard, ที่นั่นผมโชคดีที่ได้เจอกับครูฝึกที่เข้าใจหัวจิตหัวใจของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง หลังจากการเป็นแพทย์ฝึกหัด ในระหว่างที่ผมกำลังรับทุนด้านจิตวิทยาเด็ก ผมเรียนรู้เกี่ยวกับอาการสมาธิสั้นแล้วจึงรู้ว่าผมเองก็มีอาการแบบนี้ ตอนนั้นผมอายุตั้ง 31 ปีแล้ว เป็นจังหวะการ A-HA !! ที่น่าสนใจจริงๆ
ตอนนี้ผมอายุ 62 ปีแล้ว ก็ทำงานด้านการรักษาคนสมาธิสั้นและคนที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ มาแล้วกว่า 30 ปี ผมเขียนหนังสือและเป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มในเรื่องนี้ ผมยังมีคลินิกช่วยบำบัดส่วนตัวที่บอสตันและนิวยอร์ค ผมได้เจอกับผู้รับการรักษาจากทุกช่วงอายุ ไม่ว่าเป็นคู่รัก, ครอบครัว, และกลุ่ม staff ของผมมีความสนใจตรงกันเกี่ยวกับสมาธิสั้นและบุคคลแสนพิเศษที่มีอาการเหล่านี้
Q: แนวทางในการรักษาอาการสมาธิสั้นของคุณมีความแตกต่างจากแนวทางอื่นๆ อย่างไร
A: ที่ศูนย์ของผม เราไม่ได้มองคนสมาธิสั้นว่ามีความพิการหรือความพกพร่อง แต่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุปนิสัยของคนคนหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะทั้งที่ดีและไม่ดี งานของเราคือการส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีในขณะเดียวกันก็จำกัดความเสียหายที่จะเกิดจากด้านที่ไม่ดีให้น้อยลง แนวทางทางการแพทย์โดยทั่วไปมองอาการสมาธิสั้นว่าเป็นความผิดปกติ ซึ่งการมองข้ามด้านดีๆ ทำให้แนวทางรักษาก่อให้เกิดความผิดปกติใหม่ๆ ที่ร้ายแรงกับคนๆ นั้น เช่น ความอับอาย, ความกลัว, การสูญเสียความหวัง, สูญเสียความนับถือตัวเอง, หรือกระทั่งฝันสลาย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา http://www.drhallowell.com/add-adhd/top10questions/