พัฒนาการปกติ เดือนที่ 9
พัฒนาการปกติ เดือนที่ 9 “เตรียมความพร้อม”
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ลูกได้สะสมทักษะ เตรียมความพร้อมในการใช้มือ การใช้สายตา และการเข้าสังคม และตื่นเต้นกับสิ่งที่ดูเหมือนง่ายๆ สำหรับผู้ใหญ่ แต่เป็นก้าวที่สำคัญ สำหรับการพัฒนาการของเขาต่อไป ในเดือนนี้เขาจะใช้เวลา ในการฝึกฝนขั้นตอนการพัฒนาการต่างๆเหล่านี้ ให้ดียิ่งขึ้น และยังกระหายที่จะเรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
ลูกจะลุกขึ้นมานั่งเองได้ จากท่านอนบนพื้น และจะสามารถช่วยตนเองให้ขึ้นมา อยู่ในท่ายืนได้ (เกาะยืน) โดยอาจจะต้องอาศัยโซฟา เป็นที่เกาะ และเด็กบางคนจะเริ่ม”ตั้งไข่” ทำท่าเหมือนจะเดินได้ หนึ่งหรือสองก้าว แต่ก็ยังไม่กล้าเดินต่อ หรืออาจจะลงนั่งอีก ลูกจะคลานได้เก่ง และจะมีโอกาส เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น จะชอบขึ้นกระได แต่อาจจะพลัดตก หงายลงมาได้ หรือปีนป่ายโต๊ะ ดึงลิ้นชัก, ผ้าปูโต๊ะ จนหลุดออกมา หล่นใส่ตัวหรือเท้าได้ จึงควรล็อกลิ้นชัก และไม่ใช้ผ้าปูโต๊ะ ในบริเวณที่เด็กอยู่ประจำ แม้แต่ต้นไม้ที่ปลูกในกระถางในบ้าน ก็อาจถูกลูกเข้าไปรื้อ และโน้มให้หล่นทับตัวลูกได้
ลูกจะสามารถใช้มือได้ ตามขนาดของสิ่งของ ที่เขากำลังจับเล่นอยู่ และเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ของของต่างๆ เช่น จะสามารถเอาของชิ้นเล็ก ไปใส่ในของชิ้นใหญ่ (เล่นตระกร้าเก็บของ, เอาของชิ้นเล็กใส่ถ้วย ฯลฯ *** ต้องระวังถ้าของชิ้นเล็กมาก ลูกจะเอาใส่ปาก และเกิดอันตรายจากการสำลักได้) และจะสามารถ ต่อบล็อกชิ้นใหญ่ วางซ้อนกันได้ 2 ชั้น หรือเอาฝามาปิดปากถ้วยได้
ลูกสามารถเข้าใจดีขึ้น ถึงคอนเซปต์ของคน และสิ่งของว่า จะยังคงอยู่ แม้ว่าเขาจะมองไม่เห็น จากการเล่นเกมเมื่อเดือนก่อนๆ ที่ช่วยทำให้เขาเรียนรู้ว่า เมื่อคุณออกไปจากห้อง แม้ว่าเขาจะไม่เห็นคุณ แต่ก็รู้ว่าอีกสักครู่ คุณก็จะกลับมาอยู่กับเขาแน่
คุณพ่อคุณแม่หลายคน จะพยายามซื้อของเล่นที่พิเศษๆ ให้ลูก และพยายามสอนให้ลูก ได้เล่นอย่างถูกต้อง ตามชนิดของๆ เล่น แต่การพยายามด้วยความหวังดีของคุณนี้ อาจจะไปขัดขวาง การเรียนรู้ของเด็กในการหัดสังเกต และการฝึกฝนในการใช้มือ และสายตา ทางที่ดีแล้วควรให้โอกาสลูก ได้ลองเล่นอยากที่เขาอยากจะเล่นเอง แล้วเขาจะค่อยๆ เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ได้เองทีหลัง โดยคุณไม่ต้องกังวล คอยแก้ให้เขาเล่น ให้ถูกต้องอย่างผู้ใหญ่ และแม้ว่า ลูกดูเหมือนจะเล่นเอง หรืออยู่คนเดียวได้ แต่เขาก็ยังจะมองหา หรือต้องการให้แน่ใจว่า มีคุณอยู่ใกล้ๆในห้อง
อีกขั้นของการพัฒนาการ ที่คุณจะเริ่มฝึกให้ลูก ในอายุนี้ คือ การเลิกนมแม่ หรือนมขวด และเริ่มให้ดื่มจากถ้วยแทน แม้ว่าเขาจะยังไม่ยอมดื่มเองจากถ้วย โดยการเริ่มใช้ ”ถ้วยฝึกดื่ม” เลือกช่วงเวลาที่เขาไม่ค่อยสนใจดูดนมจากขวด เปลี่ยนมาให้เป็น “ถ้วยฝึกดื่ม” แทน โดยในช่วงแรกให้ฝึกดื่มน้ำก่อน และเปลี่ยนเป็นนม ในภายหลัง และอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน ก่อนที่ลูกจะยอมรับการดื่มจากถ้วย
การพูดของลูกในตอนนี้ จะยังไม่เป็นคำ ที่ฟังมีความหมายนัก แต่เขาก็จะเริ่มมีการออกเสียงที่พอฟังได้ ถ้าเราจะเข้าใจเขา เช่น การเรียก “มะมะ” อาจหมายถึง “หม่ำ” อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาถึงจะสามารถออกเสียง เรียกคำที่มีความหมายที่ถูกต้องได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ลูกจะเข้าใจ”ความหมาย” ในสิ่งที่คุณพูดกับเขา ได้มากขึ้น พยายามพูดกับลูกบ่อยๆ และเรียกคำศัพท์เฉพาะ สำหรับสิ่งของ และกริยาต่างๆ ที่คุณใช้อยู่เป็นประจำ เช่น “พ่อ” “แม่” “ตา” ยาย” “ส่งจูบ” “บ้าย บาย” ซึ่งลูกจะเข้าใจ และสามารถทำตามที่คุณบอกได้
บางครั้งที่เขาเริ่มซน และถูกคุณดุ จะทำให้เขาตกใจ หรือบางทีแสดงท่าเสียใจ ซึ่งคุณควรระวัง อย่าให้มีการห้าม หรือต้องดุกัน บ่อยๆ เพราะจะทำให้เขาเกิดความกลัว ไม่กล้าที่จะลอง หรือทำอะไรนัก แต่เช่นกัน คุณก็ควรระวังเรื่องอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นจากความไร้เดียงสาของเขา ในการลองทำสิ่งต่างๆ ดังนั้นการดูแลใกล้ชิด และคอยช่วยเหลือเขาบ้าง ในยามที่เขาต้องการ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาส ให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง จะเหมาะสมที่สุด
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
ลูกจะลุกขึ้นมานั่งเองได้ จากท่านอนบนพื้น และจะสามารถช่วยตนเองให้ขึ้นมา อยู่ในท่ายืนได้ (เกาะยืน) โดยอาจจะต้องอาศัยโซฟา เป็นที่เกาะ และเด็กบางคนจะเริ่ม”ตั้งไข่” ทำท่าเหมือนจะเดินได้ หนึ่งหรือสองก้าว แต่ก็ยังไม่กล้าเดินต่อ หรืออาจจะลงนั่งอีก ลูกจะคลานได้เก่ง และจะมีโอกาส เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น จะชอบขึ้นกระได แต่อาจจะพลัดตก หงายลงมาได้ หรือปีนป่ายโต๊ะ ดึงลิ้นชัก, ผ้าปูโต๊ะ จนหลุดออกมา หล่นใส่ตัวหรือเท้าได้ จึงควรล็อกลิ้นชัก และไม่ใช้ผ้าปูโต๊ะ ในบริเวณที่เด็กอยู่ประจำ แม้แต่ต้นไม้ที่ปลูกในกระถางในบ้าน ก็อาจถูกลูกเข้าไปรื้อ และโน้มให้หล่นทับตัวลูกได้