พัฒนาการของเด็ก อายุ 1 ปี 5 เดือน (17 เดือน)
เด็กวัยนี้จะพูดคำศัพท์ต่างๆได้ดีมากขึ้น และเริ่มรวมคำเป็นประโยคง่ายๆ เช่น “ไม่ไป”, “ไปเที่ยว”, “นกบิน”, ลูกจะเริ่มถอดเสื้อผ้าออกเองได้ และเล่นตุ๊กตา (ทำท่าป้อนนมตุ๊กตาฯลฯ) และในบางราย จะเริ่มลองแปรงฟันเอง (ทำตามคุณพ่อคุณแม่) แต่คุณยังต้องช่วยเขา
เริ่มรู้จักแยกแยะของต่างๆ
ลูกจะเริ่มรู้จักว่าของต่างๆ กันมีรูปทรง และขนาดแตกต่างกัน พอจะรู้ถึงความแตกต่างของสี (ถึงแม้จะยังเรียกชื่อสีต่างๆไม่ได้) และลักษณะของสิ่งต่างๆ เด็กจะชอบเล่นเอาของเข้าออกในตะกร้าของเล่น และจะพบว่า เขาจะเริ่มจัดกลุ่มของของที่เขาเล่นอยู่ ออกเป็นเกณฑ์ต่างๆ เช่น ของสีเดียวกัน หรือ รูปทรงยาวเหมือนกัน อยู่เป็นกลุ่มเดียวกัน
เริ่มฝึกมารยาท เด็กจะเริ่มมีพฤติกรรมต่างๆ ตามใจตนเอง ซึ่งเขาก็จะโตพอ ที่จะรับรู้การปฏิบัติตนกับคนอื่นๆ บ้าง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ ก็จะสามารถเริ่มการฝึกเรื่องมรรยาท การปฏิบัติตัว เมื่อจะทำอะไร หรือเมื่ออยู่กับคนอื่นๆได้บ้าง เช่น การพูดว่า “ขอบคุณ ค่ะ/ครับ” , การพูดที่สุภาพ มีน้ำเสียงน่าฟัง , การยกมือไหว้ทักทายผู้ใหญ่ ฯลฯ ซึ่งเด็กจะอยากทำตามเรา ถ้าเราทำเป็นนิสัย และบอกให้ลูกทำตามด้วย ก็จะเป็นการปลูกฝังมรรยาทที่ดี ให้แก่เขาไปตลอด และเป็นการแสดงความเคารพผู้ใหญ่และคนอื่นๆ ที่ดี
เริ่มจู้จี้....กินข้าวยาก....
คุณพ่อคุณแม่ทุกคนที่มีลูกในวัยนี้ จะรู้ว่าการพยายามป้อนข้าวให้ลูกวัยนี้ นั้นยากเพียงไร ลูกจะยังไม่มีคอนเซปต์ว่า ต้องทานอาหารเป็นมื้อ หรือต้องทานให้หมดจาน อย่างที่คุณต้องการ เด็กเองมีสิ่งยั่วยวนใจหลายอย่างอยู่ตรงหน้า ที่จะทำให้เขาลืมเรื่องการทานอาหารได้ เช่น ทีวีที่กำลังตื่นเต้น หรือ เด็กคนอื่นๆที่กำลังวิ่งเล่นกันอยู่
บางช่วงจะดูเหมือนเขาเบื่ออาหาร คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะพยายามสรรหาอาหารนานาชนิด เลือกเอาแบบที่มีสารอาหารครบถ้วนที่สุดมาให้ และเปลี่ยนเมนูเป็นว่าเล่นทุกวัน แต่การทำดังนั้น จะไม่ได้ช่วยให้ลูกทานได้มากขึ้น เลยทำให้คุณแม่บางคนเครียดจัด จนทำให้เวลาทานอาหารของลูก เหมือนการเข้าสู่สงครามเอาชนะกัน
ที่จริงแล้วเด็กวัยนี้เขาจะหิว และทานเองตามที่เขาต้องการ ซึ่งอาหารที่ชอบอาจจะเป็น ของที่หยิบจับเข้าปากเองได้ (finger food) เช่น แซนวิชชิ้นเล็กๆ, ข้าวปั้นเป็นก้อน, ขนมปัง ฯลฯ และไม่ควรจะบังคับให้ลูกต้องทานอาหารให้ครบห้าหมู่ในแต่ละมื้อ หรือแต่ละวัน คุณควรจะคอยดูแลจัดอาหารที่มีประโยชน์เหล่านี้ หมุนเวียนสลับไปบ้างในแต่ละอาทิตย์ โดยใช้อาหารธรรมดาที่เขาคุ้นเคยไม่กี่อย่างจะดีกว่า (ดูในเรื่องโภชนาการของเด็กวัยนี้)
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณผู้เขียน
พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
------------------------------------------------------------------------------------------------------------